ลหุโทษ – มหันตโทษ (บาลีวันละคำ 4,247)
ลหุโทษ – มหันตโทษ
จับคู่ผิดหรือเปล่า
“ลหุโทษ” อ่านว่า ละ-หุ-โทด
“มหันตโทษ” อ่านว่า มะ-หัน-ตะ-โทด
คำที่ควรอธิบาย 3 คำ คือ “ลหุ” “มหันต” “โทษ”
(๑) “ลหุ”
อ่านว่า ละ-หุ รากศัพท์มาจาก ลงฺฆฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, ลบ งฺ แล้วแปลง ฆฺ เป็น หฺ (ลงฺฆฺ > ลฆฺ > ลหฺ)
: ลงฺฆฺ + อุ = ลงฺฆุ > ลฆุ > ลหุ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เป็นไปอย่างเบา” หมายถึง เบา, เร็ว (light, quick)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลหุ : (คำวิเศษณ์) เบา; เร็ว, ฉับไว; ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น จะ มิ ดุ, ใช้เครื่องหมาย (สระ อุ) แทน, คู่กับ ครุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย (ไม้หันอากาศ) แทน.”
(๒) “มหันต”
บาลีเขียนเป็น “มหนฺต” อ่านว่า มะ-หัน-ตะ รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
บาลี “มหนฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหันต-” (มะ-หัน-ตะ-) กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย และ “มหันต์” (มะ-หัน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
(๓) “โทษ”
บาลีเป็น “โทส” ( –ส ส เสือ) อ่านว่า โท-สะ รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)
: ทุสฺ + ณ = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน”
“โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)
(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)
หรือจำสั้นๆ :
(1) ความชั่ว (corruption)
(2) ความโกรธ (anger)
“โทส” ในบาลี เป็น “โทษ” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โทษ : (คำนาม) โทษ, ความผิด, พิรุทธ; บาป; โทษ, การละเมิด; ธาตุพิการ, หรือที่พิการ, และลมในร่างเดิรไม่สะดวก; fault, defect, blemish; sin; offence; transgression; disorder of the humours of the body or defect in the functions of the bile, and circulation of the mind.”
ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “โทษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โทษ, โทษ– : (คำนาม) ความไม่ดี, ความชั่ว, เช่น โทษแห่งความเกียจคร้าน, ความผิด เช่น กล่าวโทษ, ผลแห่งความผิดที่ต้องรับ เช่น ถูกลงโทษ, ผลร้าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ. (คำกริยา) อ้างเอาความผิดให้ เช่น อย่าโทษเด็กเลย. (ส.; ป. โทส).”
การประสมคำ :
ลหุ + โทษ = ลหุโทษ อ่านว่า ละ-หุ-โทด
มหันต + โทษ = มหันตโทษ อ่านว่า มะ-หัน-ตะ-โทด
ระวัง : “มหันตโทษ” ไม่มีการันต์ที่ ต
“มหันตโทษ” มะ-หัน-ตะ-โทด – ถูก
“มหันต์โทษ” มะ-หัน-โทด – ผิด
สังเกตสักนิด อย่าสะกดผิดเพราะเคยมือ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ลหุโทษ : (คำนาม) โทษเบา, โทษไม่ร้ายแรง, คู่กับ มหันตโทษ; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
(2) มหันตโทษ : (คำนาม) โทษหนัก, คู่กับ ลหุโทษ = โทษเบา. (ป. มหนฺต + ส. โทษ).
อภิปรายขยายความ :
ตามหลักภาษา คำที่คู่กันกับ “ลหุ” คือ “ครุ” เช่น ลหุภัณฑ์ คู่กับ ครุภัณฑ์
ว่าตามหลัก “ลหุโทษ” ก็ควรคู่กับ “ครุโทษ” แต่ในที่นี้ “ลหุโทษ” กลับไปคู่กับ “มหันตโทษ”
ในบาลี คำที่คู่กับ “มหนฺต” คือ “ขุทฺทก” (ขุด-ทะ-กะ) แปลว่า เล็กน้อย กับอีกคำหนึ่งคือ “อนุมตฺต” (อะ-นุ-มัด-ตะ) แปลว่า มีขนาดเล็ก, มีประมาณน้อย เช่นในคำว่า “อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี” แปลความว่า “โทษเพียงเล็กน้อยก็เห็นเป็นภัยที่น่ากลัว” ถ้าผูกศัพท์ล้อตาม “มหันตโทษ” ก็จะเป็น “อนุมัตโทษ” (อะ-นุ-มัด-ตะ-โทด) = โทษเล็กน้อย
ถ้าแปลง “มหนฺต” เป็น “มหา” คำที่คู่กับ “มหา” คือ “จุลฺล” (จุน-ละ) หรือ “จูฬ” (จู-ละ) เช่น –
“มหาวคฺค” คู่กับ “จุลฺลวคฺค”
“มหานิทฺเทส” คู่กับ “จูฬนิทฺเทส”
“จุลฺล” ภาษาไทยใช้เป็น “จุล”
สรุปว่า –
“ครุโทษ” = โทษหนัก ควรคู่กับ “ลหุโทษ” = โทษเบา
“มหันตโทษ” = โทษใหญ่ ควรคู่กับ “ขุทกโทษ” = โทษเล็กน้อย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ครุโทษ” และ “ขุทกโทษ”
“ขุทก” คำเดียวก็ไม่ได้เก็บ คำที่ขึ้นต้นด้วย “ขุทก” มีคำเดียว คือ “ขุทกนิกาย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีอะไร ๆ ที่น่าศึกษาหาความรู้อีกมาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อะนุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี
: พระดี ๆ อาบัติเล็กน้อยท่านก็กลัว
#บาลีวันละคำ (4,247)
28-1-67
…………………………….
…………………………….