บาลีวันละคำ

ทัศนัขสโมธาน (บาลีวันละคำ 4,246)

ทัศนัขสโมธาน

ยกมือท่วมหัว

อ่านตามหลักภาษาว่า ทัด-สะ-นัก-ขะ-สะ-โม-ทาน

อ่านตามสะดวกปากว่า ทัด-สะ-นัก-สะ-โม-ทาน

แยกศัพท์เป็น ทัศ + นัข + สโมธาน

(๑) “ทัศ” 

รูปคำเดิมเป็น “ทศ” บาลีเป็น “ทส” (บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา) อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยา (คำที่ใช้นับจำนวน) แปลว่า สิบ (จำนวน 10) 

โปรดสังเกตว่า “ทส” บาลีอ่านว่า ทะ-สะ ก็จริง แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เป็น “ทศ” รูปสันสกฤต เราอ่านว่า ทด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “ทศนิยม” เราอ่านว่า ทด-สะ-นิ-ยม ไม่ใช่ ทะ-สะ-นิ-ยม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “ทศ” และ “ทัศ” บอกไว้ว่า – 

(1) ทศ ๑, ทศ– : (คำนาม) เรียกเหรียญทองสมัยรัชกาลที่ ๔ ชนิดหนึ่ง มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่ง = ๘ บาท ว่า ทองทศ. (คำวิเศษณ์) สิบ, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.

(2) ทัศ ๑ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) สิบ เช่น ทัศนัข. (ส.; ป. ทส).

(3) ทัศ ๒ : (คำวิเศษณ์) ครบ, ถ้วน, เช่น บารมี ๓๐ ทัศ. (ส. ทศา).

(๒) “นัข” 

รูปคำเดิมเป็น “นข” อ่านว่า นะ-ขะ รากศัพท์มาจาก (ตัดมาจากศัพท์ว่า “นตฺถิ” = ไม่มี) + (แทนศัพท์ว่า “อินฺทฺริย” = อินทรีย์

: นตฺถิ > + = นข (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ไม่มีอินทรีย์คือประสาทรู้สึก” หมายถึง เล็บมือหรือเล็บเท้า, เล็บสัตว์ (a nail of finger or toe, a claw)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “นข-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “นขะ” “นขา” และ “นัข” บอกไว้ว่า – 

(1) นข-, นขะ : (คำแบบ) (คำนาม) เล็บ. (ป., ส.).

(2) นขา : (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) เล็บ.

(3) นัข (คำที่ใช้ในบทกลอน) (คำนาม) (กลอน) น. เล็บ, นิ้วมือ เช่น ทศนัข. (ป., ส. นข).

(๓) “สโมธาน” 

บาลีอ่านว่า สะ-โม-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, รวมกัน)+ โอ (คำอุปสรรค = ลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ),

: สํ > สม + โอ = สโม + ธา = สโมธา + ยุ > อน = สโมธาน (สะ-โม-ทา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รวมกันด้วยดี” หมายถึง การเอามารวมกันหรือเรียงกัน, การรวบรวม (collocation, combination) 

ในภาษาไทย ใช้รูปเดียวกับบาลี อ่านว่า สะ-โม-ทาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สโมธาน : (คำนาม) การประชุม, การรวมกัน. (ป.; ส. สมวธาน).”

การประสมคำ :

ทส + นข = ทสนข (ทะ-สะ-นะ-ขะ) แปลว่า “เล็บทั้งสิบ

ทสนข + สโมธาน = ทสนขสโมธาน (ทะ-สะ-นะ-ขะ-สะ-โม-ทา-นะ) แปลว่า “การประชุมพร้อมกันแห่งเล็บทั้งสิบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทสนขสโมธาน” ว่า putting the 10 fingers together (รวมนิ้วทั้ง 10 เข้าด้วยกัน) 

นข” ในที่นี้ จะหมายถึงเล็บหรือนิ้วก็ตาม หมายถึงเล็บมือหรือนิ้วมือ ไม่ใช่เล็บเท้าหรือนิ้วเท้า

ทสนขสโมธาน” เขียนแบบไทยเป็น “ทัศนัขสโมธาน” (ทัด-สะ-นัก-ขะ-สะ-โม-ทาน) หมายถึง การประนมมือเมื่อแสดงความเคารพ 

โปรดสังเกตว่า เมื่อประนมมือ เล็บและนิ้วทั้ง 10 จะมาอยู่รวมกัน นี่คือความหมายของคำว่า “สโมธาน” (collocation) “ทัศนัขสโมธาน” จึงมีความหมายโดยนัยว่า มือที่ประนม บอกถึงความเคารพนอบน้อม

ขยายความ :

ทัศนัขสโมธาน” หรือ “ทสนขสโมธาน” ในบาลี มีใช้ในคัมภีร์หลายแห่ง ข้อความเต็ม ๆ ที่พบเป็นดังนี้ –

…………..

ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ  อญฺชลิมฺปคฺคยฺห  สิรสฺมึ  ปติฏฺฐาเปตฺวา …

(สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค 1 หน้า 236 เป็นต้น)

ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ  อญฺชลึ  อุกฺขิปิตฺวา  ฯ

(สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค 3 หน้า 591)

ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ  อญฺชลึ  สิรสิ  ปคฺคเหตฺวา …

(สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ภาค 1 หน้า 217)

ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ  อญฺชลึ  สิรสิ  ปติฏฺฐเปตฺวา

(สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตนิกาย ภาค 1หน้า 20)

…………..

ข้อความคำบาลีนี้เป็นกิริยาแสดงความเคารพอย่างสูงยิ่ง แปลได้ใจความว่า –

… ประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทัศนัขสโมธาน ประดิษฐานไว้เหนือเศียร …

…………..

ถอดเป็นภาพ น่าจะตรงกับคำไทยที่ว่า “ยกมือท่วมหัว”

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนเรานี่ก็แปลกนะ

: คนบางคน คนยกมือท่วมหัวเมื่อรู้ว่ารอด

: คนบางคน คนยกมือท่วมหัวเมื่อรู้ว่าตาย

————————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (4,246)

27-1-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *