บาลีวันละคำ

อนุปุพพิกถา (บาลีวันละคำ 4,255)

อนุปุพพิกถา

พระพุทธศาสนาไม่ได้เอาสวรรค์มาล่อ

อ่านว่า อะ-นุ-ปุบ-พิ-กะ-ถา

แยกศัพท์เป็น อนุปุพพิ + กถา

(๑) “อนุปุพพิ

เขียนแบบบาลีเป็น “อนุปุพฺพิ” (มีจุดใต้ พฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อะ-นุ-ปุบ-พิ รูปคำเดิมเป็น “อนุปุพฺพ” ประกอบด้วย อนุ + ปุพฺพ 

(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปล “อนุ” ว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก 

(ข) “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย

: ปุพฺพฺ + = ปุพฺพฺ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)

อนุ + ปพฺพ = อนุปุพฺพฺ แปลตามศัพท์ว่า “ตามก่อน” หรือ “ตามข้างต้น” คือข้างต้นเป็นอย่างไรหรือทำอย่างไร ที่ตามมาก็เป็นอย่างนั้นหรือทำอย่างนั้น เช่น คนหน้ายืน คนที่ตามมาก็ยืน และยืนต่อ ๆ กันไป นี่คือ “อนุปุพฺพฺ” “ตามก่อน” หรือ “ตามข้างต้น” คำไทยว่า “ตามลำดับ

ถ้าเป็นจำนวน “ตามก่อน” หรือ “ตามข้างต้น” ก็หมายถึง จำนวนข้างต้นเป็นอะไร จำนวนที่ตามมาก็จะเป็นจำนวนที่ต่อมาจากข้างต้น เช่น ข้างต้นเป็น 1 จำนวนที่ตามมาก็จะเป็น 2 เป็น 3 ต่อกันไป อย่างนี้ก็เรียกว่า “อนุปุพฺพฺ” = “ตามลำดับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุปุพฺพฺ” ว่า following in one’s turn, successive, gradual, by and by, regular (โดยลำดับ, ทีละน้อย, ค่อย ๆ, โดยสม่ำเสมอ) 

ในที่นี้ “อนุปุพฺพฺ” เป็นวิเสสนะ (คำขยายความ) ของ “กถา” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงต้องเปลี่ยนรูปเป็นอิตถีลิงค์โดยการ + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อนุปุพฺพ + อี = อนุปุพฺพี (อะ-นุ-ปุบ-พี) 

อนุปุพฺพี” สมาสกับ “กถา” รัสสะ อี เป็น อิ จึงเป็น “อนุปุพฺพิ” (อะ-นุ-ปุบ-พิ)

(๒) “กถา” 

รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”

: อนุปุพฺพี + กถา = อนุปุพฺพีกถา > อนุปุพฺพิกถา (อะ-นุ-ปุบ-พิ-กะ-ถา) แปลว่า “ถ้อยคำที่กล่าวไปตามลำดับ

อนุปุพฺพิกถา” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “อนุปุพพิกถา” (ไม่มีจุดใต้ พ ตัวหน้า)

อนุปุพพิกถา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [246] แสดง “อนุปุพพิกถา” ไว้ดังนี้ –

…………..

อนุปุพพิกถา 5 (เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ, ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ — Anupubbikathā: progressive sermon; graduated sermon; subjects for gradual instruction)

1. ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน — Dānakathā: talk on giving, liberality or charity)

2. สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม — Sīla-kathā: talk on morality or righteousness)

3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น — Sagga-kathā: talk on heavenly pleasures)

4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้ — Kāmādīnava-kathā: talk on the disadvantages of sensual pleasures)

5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น — Nekkhammānisaṁsa-kathā: talk on the benefits of renouncing sensual pleasures)

ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้ก่อน แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจจ์ 4 เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับ ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ควรรับน้ำย้อมต่าง ๆ ได้ด้วยดี

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านจะเลือกไปไหน? –

: เริ่มต้นด้วยทาน ไปแค่สวรรค์ก็ได้

: เริ่มต้นด้วยทาน ไปถึงนิพพานก็ได้

#บาลีวันละคำ (4,255)

5-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *