บาลีวันละคำ

สิริ-บาลี ศฺรี-สันสกฤต (บาลีวันละคำ 4,254)

สิริ-บาลี ศฺรี-สันสกฤต

ทบทวนสักนิด กันลืม

(๑) “สิริ” 

รูปคำนี้เป็นบาลี และเป็น “สิรี” (-รี สระ อี) อีกรูปหนึ่ง แต่เราไม่นิยมใช้ในภาษาไทย คงใช้เฉพาะ “สิริ

สิริ” บาลีอ่านว่า สิ-ริ รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ปัจจัย (อ่านว่า ระ ปัจจัย ไม่ใช่ รอ ปัจจัย) + อิ หรือ อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ + = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

(1) ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)

(2) โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)

(3) เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

สิริ ๒, สิรี : (คำนาม) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม. (ป.; ส. ศฺรี).”

(๒) “ศฺรี” 

สิริ” ในบาลีเป็น “ศฺรี” (มีจุดใต้ ศฺ) ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศฺรี” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิ์หรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”

ศฺรี” (มีจุดใต้ ศฺ) ในสันสกฤต ใช้ในภาษาไทยเป็น “ศรี” (ไม่มีจุดใต้ ศฺ) อ่านว่า สี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ศรี ๑ : (คำนาม) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง, ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (ส. ศฺรี; ป. สิริ, สิรี).”

ขยายความ :

ในภาษาไทย เมื่อเขียนคำที่ออกเสียงว่า สิ-หฺริ มักมีผู้สะกดเป็น “ศิริ” คือ ศิ- ใช้ ศ ศาลา

โปรดทราบว่า คำที่ออกเสียงว่า สิ-หฺริ ในภาษาไทย สะกดเป็น “สิริสิ– ส เสือ ตามรูปคำบาลี ไม่มีที่สะกดเป็น “ศิริ” ศ ศาลา

บาลี “สิริ” สันสกฤตเป็น “ศฺรี” ไม่ใช่ “ศิริ” 

และ “ศฺรี” กับ “ศิริ” ในสันสกฤตเป็นคนละคำกัน

ศฺรี” ในสันสกฤต = มิ่ง, สิริมงคล

ศิริ” ในสันสกฤต = กระบี่, ดาบ, ศร, ผู้ฆ่า

ดังนั้น คำที่ออกเสียงว่า สิ-หฺริ ในภาษาไทย เช่นคำว่า “สิริมงคล” (สิ– ส เสือ) ถ้าเขียนเป็น “ศิริมงคล” (ศิ– ศ ศาลา) ก็จะต้องแปลว่า :

– กระบี่อันเป็นมงคล หรือมงคลอันเกิดจากกระบี่ 

– ศรอันเป็นมงคล หรือมงคลอันเกิดจากศร 

– ผู้ฆ่าอันเป็นมงคล หรือมงคลอันเกิดจากผู้ฆ่า 

คงไม่ใครต้องการจะให้มีความหมายเช่นนี้

หลักง่าย ๆ จับไว้ให้แม่น –

ภาษาไทยไม่มี “ศิริ” ศ ศาลา

มีแต่ “สิริ” ส เสือ บาลี 

มีแต่ “ศรี” สันสกฤต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเขียนผิดไม่ใช่เรื่องเสียหาย

: ความมักง่ายก็คงเป็นเรื่องดี

#บาลีวันละคำ (4,254)

4-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *