นาสนะ (บาลีวันละคำ 4,257)
นาสนะ
ภาษาพระวินัย
อ่านว่า นา-สะ-นะ
“นาสนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “นาสน” อ่านว่า นา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก นสฺ (ธาตุ = ไม่เห็น, อันตรธาน, พินาศ) + เณ ปัจจัย, ลบ ณ (เณ > เอ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (นสฺ > นาส), ลบสระหน้า + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ก็มี
: นสฺ + เณ = นสเณ > นเส > นส > นาส + ยุ > อน = นสน > นาสน (+ อา = นาสนา) แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้ไม่เห็น”
“การทำให้ไม่เห็น” มีนัย 2 อย่าง คือ:
(1) ขณะนั้นมีเพศภาวะเช่นไร ทำให้เพศภาวะเช่นนั้นหายไป คือไม่ครองเพศภาวะเช่นนั้นให้เห็นอีก = ให้สละเพศ คือให้สึก
(2) จะครองเพศภาวะเช่นนั้นหรือจะเปลี่ยนเพศภาวะก็ตาม ก็อย่ามาปรากฏตัวให้เห็นอีกต่อไป = ไล่ออกจากสำนัก
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “นาสน” ว่า การนาสนะ, การให้สึก, การให้สละสมณเพศ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นาสน” ว่า destruction, abandoning, expulsion (การทำลาย, การยกเลิก, การขับไล่)
“นาสน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ แต่ในคัมภีร์บาลีศัพท์นี้เป็น “นาสนา” อิตถีลิงค์ก็มี ภาษาไทยนิยมใช้เป็น “นาสนะ” (นา-สะ-นะ)
“นาสนะ” และ “นาสนา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
“นาสนะ” หรือ “นาสนา” เป็นศัพท์วิชาการทางพระวินัย ใช้กับภิกษุสามเณรที่ประพฤติผิดพระวินัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “นาสนา” ขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
นาสนา : ให้ฉิบหายเสีย คือ การลงโทษบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศ มี ๓ อย่าง คือ
๑. ลิงคนาสนา ให้ฉิบหายจากเพศ คือให้สึกเสีย
๒. ทัณฑกรรมนาสนา ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ
๓. สังวาสนาสนา ให้ฉิบหายจากสังวาส
…………..
คำว่า “ลิงคนาสนา” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ ไม่ได้เก็บไว้ แต่เก็บคำว่า “ทัณฑกรรมนาสนา” และ “สังวาสนาสนา” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –
…………..
(1) ทัณฑกรรมนาสนา : ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ หมายถึงการไล่ออกจากสำนัก เช่น ที่ทำแก่กัณฑกสามเณร ผู้กล่าวตู่พระธรรมเทศนาว่า ธรรมที่ตรัสว่าเป็นอันตราย ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง
(2) สังวาสนาสนา : ให้ฉิบหายจากสังวาส หมายถึง การทำอุกเขปนียกรรมยกเสียจากสังวาส คือทำให้หมดสิทธิที่จะอยู่ร่วมกับสงฆ์
…………..
เฉพาะ “สังวาสนาสนา” ได้ความว่า คือการทำอุกเขปนียกรรม
คำว่า “อุกเขปนียกรรม” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ อธิบายความหมายไว้ดังนี้ –
…………..
อุกเขปนียกรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึงวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติหรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่าย ๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว
…………..
อภิปราย :
“นาสนะ” หรือ “นาสนา” ทั้ง 3 ประการนั้น กล่าวสั้น ๆ ให้เห็นความแตกต่างก็คือ –
๑. ลิงคนาสนา = ให้สึก
๒. ทัณฑกรรมนาสนา = ไล่ออก
๓. สังวาสนาสนา = ตัดสิทธิ์
“ให้สึก” (ลิงคนาสนา) ชัดเจน คืออยู่เป็นพระเป็นเณรไม่ได้อีกต่อไป
“ไล่ออก” (ทัณฑกรรมนาสนา) คือ ไม่ได้ให้สึก แต่ให้ออกไปจากสำนัก จะสึกหรือจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป แต่อยู่ในสำนักไม่ได้ และไม่ถือว่าเป็นสมาชิกของสำนักอีกต่อไป
“ตัดสิทธิ์” (สังวาสนาสนา) คือ ไม่ได้ให้สึกและไม่ได้ไล่ออก ยังคงเป็นพระเป็นเณรอยู่ในสำนักเดิมนั่นแหละ แต่ไม่ให้ร่วมกิจกรรมใด ๆ คล้ายกับคนป่วยด้วยโรคติดต่อ ต้องกักตัวอยู่ต่างหาก ไม่ให้ใครในสำนักไปคลุกคลีด้วย อีกทั้งไม่ให้มีสิทธิ์ใด ๆ ที่สมาชิกของสำนักจะพึงได้รับ
คำที่น่าคิดคือ “ทัณฑกรรมนาสนา” ท่านแปลว่า “ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ” คำว่า “ลงโทษ” ก็ไม่ชัดว่าทำอย่างไร แต่ท่านขยายความต่อไปว่า หมายถึงการไล่ออกจากสำนัก
ว่าโดยรูปศัพท์ คำบาลีว่า “ทณฺฑกมฺมนาสนา” ชวนให้แปลว่า “ให้ฉิบหายด้วยการลงทัณฑกรรม” คือให้ทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง งานที่พระรุ่นเก่าท่านใช้ลงทัณฑกรรมก็อย่างเช่น-ให้ล้างถาน (ห้องส้วม) 7 วัน-เป็นต้น เมื่อทำทัณฑกรรมครบตามกำหนดแล้วจึงจะพ้นโทษ คืนสู่สถานะปกติ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าควบคุมจิตของตัวเองไว้ได้
: ก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาลงนาสนะ
#บาลีวันละคำ (4,257)
7-2-67
…………………………….
…………………………….