มโนธรรม (บาลีวันละคำ 4,258)
มโนธรรม
ไม่ใช่หญ้าปากคอก
อ่านว่า มะ-โน-ทำ
ประกอบด้วยคำว่า มโน + ธรรม
(๑) “มโน”
อ่านว่า มะ-โน รูปคำเดิมเป็น “มน” อ่านว่า มะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: มน + อ = มน แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้”
(2) มา (ธาตุ =นับ, กะ, ประมาณ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบสระที่สุดธาตุ (มา > ม)
: มา > ม + ยุ > อน : ม + อน = มน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดนับอารมณ์”
“มน” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ใจ, ความคิด (mind, thought)
“มน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “มโน”
“มน” เป็นศัพท์พิเศษที่เรียกว่า “มโนคณศัพท์” (มะ-โน-คะ-นะ-สับ) แปลว่า “ศัพท์ในกลุ่มของ มน”
“มโนคณศัพท์” มีกฎว่า เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ให้แปลง อะ ที่สุดศัพท์เป็น โอ เช่น มน + รม แทนที่จะเป็น “มนรม” ท่านให้แปลง อะ ที่ (ม)-น เป็น โอ (มน > มโน) จึงเป็น “มโนรม”
ในที่นี้ มน + ธมฺม แทนที่จะเป็น “มนธมฺม” ก็เป็น “มโนธมฺม”
(๒) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คำสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายครอบคลุมถึงความหมายทุกอย่างของคำว่า “ธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึง คำสั่งสอนในศาสนา
มน + ธมฺม = มนธมฺม > มโนธมฺม (มะ-โน-ทำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมะอันมีอยู่ในใจ”
“มโนธมฺม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มโนธรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มโนธรรม : (คำนาม) ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี, ความรู้สึกว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ.”
ขยายความ :
ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูในคัมภีร์บาลี ยังไม่พบศัพท์ “มโนธมฺม” ที่มีความหมายตรงตาม “มโนธรรม” ในภาษาไทย สันนิษฐานว่า คำว่า “มโนธรรม” เป็นศัพท์ที่เราบัญญัติขึ้นเองในภาษาไทย
ถ้าถามว่า “มโนธรรม = ธรรมะอันมีอยู่ในใจ” คือธรรมะข้อไหนบ้าง หรือถามอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะทำให้ใจเป็นใจที่มีธรรมะหรือมี “มโนธรรม” ควรจะมีธรรมะข้อไหนบ้างอยู่ประจำใจ
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอธรรมะชุดหนึ่ง ท่านเรียกว่า “มโนสุจริต”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [319] กุศลกรรมบถ 10 ส่วนที่ว่าด้วย มโนกรรม 3 แสดงไว้ดังนี้ –
…………..
(1) 8. อนภิชฺฌา (ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา — Anabhijjhā: non-covetousness)
(2) 9. อพฺยาปาท (ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น — Abyāpāda: non-illwill)
(3) 10. สมฺมาทิฏฺฐิ (ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม — Sammādiṭṭhi: right view)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปไว้ดังนี้ –
…………..
มโนสุจริต : ความประพฤติชอบด้วยใจ, ความสุจริตทางใจ มี ๓ อย่าง คือ
๑. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
๒. อพยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๓. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
(ข้อ ๓ ในสุจริต ๓)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนฉลาดที่ขาดมโนธรรม
: โง่กว่าคนโง่ที่มีมโนธรรม
#บาลีวันละคำ (4,258)
8-2-67
…………………………….
…………………………….