บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เราจะผ่านมันไปด้วยกัน

เราจะผ่านมันไปด้วยกัน

————————-

ผมเคยคิดคำว่า “มีกูต้องไม่มีมึง” ขึ้นมาใช้เรียกศาสนาหนึ่ง เป็นศาสนาที่ไปถึงไหนศาสนาอื่นอยู่ไม่ได้ มีให้เลือก ๒ ทาง หนึ่งเปลี่ยนมานับถือกู สองตาย หนีไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รอด เพราะเดี๋ยวกูก็ตามไปเจอมึงอีกจนได้

สำหรับพระพุทธศาสนา ถ้าใช้คำเสมอกันก็มีคำเรียกว่า “มึงกับกูอยู่ด้วยกัน” พระพุทธศาสนาไปถึงไหน ศาสนาไหนๆ ก็อยู่ร่วมกันได้หมด

เวลานี้ผมเห็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้คำว่า “มีกูต้องไม่มีมึง” ได้อย่างเหมาะเจาะ นั่นคือ การสร้างบ้านแปลงเมือง

…………………..

ผมเดินออกกำลังตอนเช้าไปทั่วทุกทิศทั้งในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีอันเป็นที่ตั้งบ้านเรือน และแลบออกไปนอกเขตด้วยตามโอกาสอันควร 

การเดินทำให้ได้อารมณ์อย่างที่พูดเป็นจินตนาการว่า-ได้เห็นทรายทุกเม็ด เห็นหญ้าทุกเส้น เห็นใบไม้ทุกใบ ได้ซึมซับบรรยากาศของ “แผ่นดิน” ได้ความรู้สึกว่าความรักบ้านรักเมืองรักแผ่นดินนั้นเป็นอย่างไร

ผมว่าความรู้สึกแบบนี้ คนไทยรุ่นใหม่ได้สัมผัสน้อยลงไปทุกที

นอกจากที่ว่ามานั้นแล้ว อย่างหนึ่งที่ได้เห็นเสมอก็คือ บรรยากาศสองข้างถนน เห็นคูคลองที่ขนานไปกับถนน เห็นต้นไม้ใบหญ้าที่ขึ้นริมคู เห็นชีวิตนกต่างๆ และสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อาศัยริมคู เป็นสภาพเดียวกับแผ่นดินชนบทที่ผมเติบโตมา

ตอนนี้ที่ราชบุรีบ้านผม ตั้งแต่แยกเจดีย์หักไปถึงสะพานสิริลักขณ์กำลังทำถนนใหม่ ทำทางยกระดับข้ามสี่แยก เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบ้านแปลงเมือง

ผมเดินที่ถนนช่วงนี้ตั้งแต่สองฟากถนนยังมีคูน้ำ แต่พอมีการสร้างบ้านแปลงเมือง ธรรมชาติสองฟากถนนก็หายวับไปกับตา แบบ “มีกูต้องไม่มีมึง”

ผมอยากให้เราใช้แนวคิดใหม่ในการสร้างบ้านแปลงเมือง นั่นคือ เราอยู่ได้และให้ธรรมชาติเดิมๆ อยู่ได้ด้วย

ว่ากันตรงๆ ธรรมชาติมีมาก่อนเรา เป็นเจ้าของ แล้วมนุษย์ก็มารุกรานธรรมชาติด้วยแนวคิด “มีกูต้องไม่มีมึง”

เราใช้วิธีจัดระเบียบให้ธรรมชาติไปอยู่ในอีกที่หนึ่ง ใครอยากดูต้นไม้สายน้ำฟังเสียงนกร้องหรือเห็นสัตว์ ต้องเดินทางไปดูที่โน่น-ถ้ามีเวลา

แนวคิดผมคือ มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกัน อยู่ที่เดิมที่เดียวกันนี่แหละ เช้าเปิดประตูบ้านมาก็เจอธรรมชาติเดิมอยู่หน้าบ้านอยู่ข้างบ้านนั่นเอง เป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่ธรรมชาติจำลองหรือธรรมชาติที่สร้างขึ้น พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็ยังทำสิ่งที่เรียกว่า “พัฒนา” ไปได้ตามปกติ

ผมไม่รู้ว่าในกระบวนการศึกษาวิชาสถาปัตย์ วิชาวิศวะ วิชาผังเมือง วิชาออกแบบภูมิทัศน์ วิชาก่อสร้าง ฯลฯ วิชาสร้างบ้านแปลงเมืองเหล่านี้ที่เรียนกันในสมัยนี้ เขามีแนวคิดธำรงธรรมชาติกันบ้างหรือเปล่า

มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ด้วยกัน แบบแนวคิดพระพุทธศาสนา – “มึงกับกูอยู่ด้วยกัน” 

ธรรมชาติเป็นของจริงของชีวิต มนุษย์อยู่กับธรรมชาติจึงเป็นชีวิตที่ถูกต้องที่สุด

ชีวิตในตัวเมือง ผู้คนอยู่กับธรรมชาติเดิมในชีวิตประจำวันได้จริงๆ – ออกแบบเข้าสิครับ มันต้องมีวิธี

เราชื่นชมคนรุ่นใหม่ว่าฉลาดกว่าคนรุ่นก่อน – “ผู้ใหญ่ตามเด็กไม่ทัน” ใครที่เชื่อว่าตัวเองฉลาดกว่าปู่ย่าตายาย ขอให้ลองคิดเรื่องนี้-ผู้คนไม่ทำลายธรรมชาติ แต่อยู่กับธรรมชาติเดิมในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ปฏิวัติแนวคิดพัฒนาประเภท-ความเจริญไปถึงไหน ธรรมชาติบรรลัยไปถึงนั่น 

ใครทำสำเร็จ กี่เท่าของรางวัลโนเบลก็ยังน้อยไป

ปู่ย่าตายายเราท่านทำได้ ท่านอยู่กับธรรมชาติ เลี้ยงลูกหลานมากับธรรมชาติ-ด้วยธรรมชาติ

ถ้าเราฉลาดกว่าปู่ย่าตายายจริง เราก็ต้องทำได้ อย่าอ้าง-มันคนละยุคสมัยกัน เมื่อก่อนก็ทำได้สิเพราะอย่างนั้นๆ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้หรอกเพราะอย่างนี้ๆ ต่อให้ปู่ย่าตายายฟื้นขึ้นมาทำใหม่ก็ทำไม่ได้หรอก โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว …

โลกไม่ได้เปลี่ยนเองตามธรรมชาติ แต่คนเป็นผู้ทำให้โลกเปลี่ยน ก็คนที่เชื่อว่าตัวเองฉลาดกว่าปู่ย่าตายายนี่แหละเป็นผู้ทำให้โลกเปลี่ยน ปัญหาเกิดจากคน เพราะฉะนั้น คนก็ต้องแก้ไขได้-ถ้าเก่งจริง

……………………………………………………….

เรื่องนี้มีอาการทำนองเดียวกับการรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

ชาววัดรุ่นใหม่บอกว่า จะให้พระสมัยนี้ประพฤติเคร่งครัดเหมือนพระสมัยพุทธกาลน่ะไม่ได้หรอก สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว

……………………………………………………….

แนวคิดแบบนี้ก็คือ ไม่ต้องไปแก้ไข ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ปล่อยมันไปอย่างนี้แหละดีแล้ว นี่แหละคือธรรมชาติที่แท้จริง คนเก่งกว่าเราเขายังไม่ทำอะไร เราตัวแค่นี้จะไปทำอะไรได้ ทุกอย่างเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง – เหตุผลมีเป็นชุด มาเป็นขบวนเลยแหละ

ครับ เหมือนขบวนรถไฟ 

รถไฟขบวนนี้หยุดไม่ได้ และปลายทางคือปากเหว

เราจะผ่านมันไปด้วยกัน!!

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ มกราคม ๒๕๖๕

๑๕:๓๐

……………………………………………..

เราจะผ่านมันไปด้วยกัน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *