บาลีวันละคำ

ศึกษาธิการ (บาลีวันละคำ 4,262)

ศึกษาธิการ

ควรจะเป็นงานของใคร

อ่านว่า สึก-สา-ทิ-การ

แยกศัพท์เป็น ศึกษา + อธิการ

(๑) “ศึกษา” 

บาลีเป็น “สิกฺขา” อ่านว่า สิก-ขา รากศัพท์มาจาก สิกฺข (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิกฺข + = สิกฺข + อา = สิกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิกฺขา” ไว้ดังนี้ –

(1) study, training, discipline (การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย)

(2) [as one of the 6 Vedāngas] phonology or phonetics, combd with nirutti [interpretation, etymology] ([เป็นหนึ่ีงในเวทางค์ 6] วิชาว่าด้วยเสียง หรือการอ่านออกเสียงของคำต่าง ๆ, รวมกับ นิรุตฺติ [การแปลความหมาย, นิรุกติ]) 

ความหมายของ “สิกขา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิกขา : (คำนาม) ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ ศีล เรียกว่า ศีลสิกขา สมาธิ เรียกว่า จิตสิกขา และปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา; การศึกษา, การเล่าเรียน, เช่น ปริยัติสิกขา ปฏิบัติสิกขา. (ป.; ส. ศิกฺษา).”

บาลี “สิกฺขา” สันสกฤตเป็น “ศิกฺษา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศิกฺษ” อันเป็นรากศัพท์ (ธาตุ) ของ “ศิกฺษา” ไว้ดังนี้ –

ศิกฺษ : (ธาตุ) เรียน, ศึกษาศาสตร์หรือความรู้; to learn, to acquire science or knowledge.”

และบอกความหมายของ “ศิกฺษา” ไว้ดังนี้ –

ศิกฺษา : (คำนาม) ‘ศึกษา,’ หนึ่งในจำนวนหกแห่งเวทางค์ หรือ ศาสตร์อันติดต่อกับพระเวท; การศึกษา, การเล่าเรียน; ความเสงี่ยมในมรรยาท, อนหังการ; one of the six Vedāngas or sciences attached to the Vadas; learning, study; modesty, humility.”

ในภาษาไทย “สิกฺขา” นิยมใช้อิงรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา” จนเข้าใจกันทั่วไป

คำที่ประกอบด้วยสระ อิ หรือสระ อี ในบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย คนเก่าท่านนิยมแปลงเป็นสระ อึ มีหลายคำ เช่น –

กากณิก (กา-กะ-นิ-กะ) = กากณึก (กา-กะ-หฺนึก. ทรัพย์มีราคาเล็กน้อย)

จาริก (จา-ริ-กะ) = จารึก (ท่องเที่ยวไป)

โชติก (โช-ติ-กะ) = โชดึก (ผู้รุ่งเรือง, ผู้มั่งคั่ง)

ปจฺจนีก (ปัด-จะ-นี-กะ) = ปัจนึก (ข้าศึก, ศัตรู)

ผลิก (ผะ-ลิ-กะ) = ผลึก (แก้วผลึก, ตกผลึก)

อธิก (อะ-ทิ-กะ) = อธึก (ยิ่ง, เกิน, มาก, เพิ่ม, เลิศ)

อนีก (อะ-นี-กะ) = อนึก (กองทัพ)

ดังนั้น “สิกขา > ศิกฺษา” จึงกลายเป็น “ศึกษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศึกษา : (คำนาม) การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม. (ส. ศิกฺษา; ป. สิกฺขา).”

(๒) “อธิการ” 

บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + การ (การกระทำ)

: อธิ + การ = อธิการ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันยิ่ง” หมายถึง การเอาใจใส่หรือติดตาม, การให้บริการ, การบริหาร, การดูแลควบคุม, การจัดการ, การช่วยเหลือ (attendance, service, administration, supervision, management, help)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อธิการ” ไว้ดังนี้ –

(1) อำนาจ, การปกครอง, ความบังคับบัญชา (ป., ส.).

(2) ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ (ป., ส.).

(3) สิทธิ, ความชอบธรรม (ป., ส.).

(4) เรียกพระที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่น ว่า พระอธิการ, เรียกพระที่ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตำบล ซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่น ว่า เจ้าอธิการ (ป., ส.).

(5) ตำแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย. (ป., ส.).

สิกฺขา + อธิการ = สิกฺขาธิการ (สิก-ขา-ทิ-กา-ระ) แปลว่า “การกระทำอันยิ่งในการศึกษา

หมายเหตุ: ตรวจดูในคัมภีร์บาลีแล้ว ยังไม่พบคำที่สมาสกันเป็น “สิกฺขาธิการ” 

สิกฺขาธิการ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ศึกษาธิการ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ศึกษาธิการ : (คำนาม) เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมเกี่ยวกับการศึกษาระดับอำเภอ จังหวัด และเขตการศึกษา เรียกว่า ศึกษาธิการอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการเขต, ชื่อกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม.”

อภิปรายขยายความ :

มีผู้แสดงความเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการของไทยเรานั้นควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น “กระทรวงการศึกษา” เป็นต้น

ผู้แสดงความเห็นดังกล่าวให้เหตุผลว่า คำว่า “ศึกษาธิการ” มีความหมายว่า “ผู้เป็นใหญ่ในการศึกษา” เป็นเหตุให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาคิดว่า ตนมีอำนาจยิ่งใหญ่ จึงมักใช้อำนาจจัดการศึกษาไปตามที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของประเทศชาติและประชาชน 

การศึกษาของประชาชนควรจะเป็นเช่นไรและควรจะเป็นไปเช่นไร จะต้องมีมาตรฐานที่เป็นสากลและเหมาะสมแก่สภาพของประเทศ ไม่ใช่ว่าใครนึกจะจัดการอย่างไรก็ใช้อำนาจจัดการไปตามที่ตนต้องการ เนื่องจากเข้าใจว่า ตนเป็น “ศึกษาธิการ” ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในการจัดการศึกษา เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ตรงกับความจำเป็นที่แท้จริง

ความเห็นดังแสดงมานี้ ขอท่านผู้มีสติปัญญาพึงพิจารณาโดยแยบคายเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศึกษาความหมายของ “สิกขา” จนรู้ทุกอย่างทุกสิ่ง

: แต่ทำให้เกิดมีขึ้นจริงไม่ได้สักอย่าง-จะมีความหมายดังฤๅ?

#บาลีวันละคำ (4,262)

12-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *