บาลีวันละคำ

ผูกพัน ไม่ใช่ ผูกพันธ์ (บาลีวันละคำ 4,260)

ผูกพัน ไม่ใช่ ผูกพันธ์

ผูกพัน” เป็นคำไทย

“ผูกพันธ์” เป็นคำที่เขียนผิด

(๑) “ผูกพัน” เป็นคำไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

(1) ผูก : (คำกริยา) เอาเชือกเป็นต้นสอดคล้องกันให้เกิดเป็นเงื่อน เพื่อทําให้มั่นหรือติดต่อกันในตัวหรือกับสิ่งอื่น เช่น ผูกเชือก ผูกลวด ผูกโบ, ติดต่อหรือติดพันกันแน่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ผูกใจ ผูกโกรธ ผูกมิตร, ประกอบเข้า เช่น ผูกประโยค ผูกปริศนา ผูกลาย, ติดพันกันด้วยเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามที่ตกลงกัน เช่น ผูกตลาด ผูกท่า; คุ้มครอง (ใช้ในการเล่นหมากรุก) เช่น เอาม้าผูกโคน เอาเรือผูกม้า; ขมวด เช่น ผูกคิ้วนิ่วหน้าไม่พาที. (นิ. นรินทร์); จอง เช่น ผูกเวร; ตรงข้ามกับ แก้. (คำนาม) ลักษณนามเรียกหนังสือใบลานที่ร้อยหูไว้มัดหนึ่ง ๆ ว่า คัมภีร์เทศนาผูกหนึ่ง.

(2) พัน ๒ : (คำกริยา) วนรอบด้วยสิ่งที่เป็นเส้นสายหรือสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น พันคอ พันแผล เถาวัลย์พันกิ่งไม้, ม้วน เช่น พันไหมพรม, รัดโดยรอบ เช่น พันแข้ง, เกี่ยวกันไปมา, เกี่ยวกันยุ่งเหยิง, เช่น ด้ายพันกัน.

(3) ผูกพัน : (คำกริยา) มีความเป็นห่วงกังวลเพราะรักใคร่เป็นต้น; ก่อให้เกิดพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม; (การคลัง) ก่อหนี้สินผูกมัดรัฐบาลให้ต้องจ่ายในงบประมาณแผ่นดินต่อ ๆ ไป เช่น หนี้ผูกพัน งบประมาณผูกพัน รายจ่ายผูกพัน.

(๒) “ผูกพันธ์” เป็นคำที่เขียนผิด 

เพราะผู้เขียนเข้าใจผิดว่า “พัน” ในคำนี้เป็น “พันธ์” ในคำบาลี

พันธ์” เขียนแบบบาลีเป็น “พนฺธ” อ่านว่า พัน-ทะ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + (อะ) ปัจจัย

: พนฺธฺ + = พนฺธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การผูกไว้

พนฺธ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การผูกชนิดหนึ่ง (a sort of binding)

(2) เชือกผูก, โซ่ (a halter, tether) 

(3) ห่วง, ตรวน (bond, fetter)

(4) ผู้มัดหรือผูกรวมกันไว้ (one who binds or ties together)

ความหมายของ “พนฺธ” ในบาลีสอดคล้องกับความหมายของ “พัน” ในภาษาไทย จึงชวนให้เข้าใจไปว่า “-พัน” ในคำนี้เป็น “พนฺธ” ในบาลี “ผูกพัน” จึงควรจะสะกดเป็น “ผูกพันธ์” 

แถม :

คำว่า “ผูก” ในภาษาไทย คำกริยาภาษาบาลี (ปัจจุบันกาล ปฐมบุรุษ เอกวจนะ) เป็น “พนฺธติ” (พัน-ทะ-ติ) แปลว่า “ย่อมผูก

นักเรียนบาลีบ้านเราแปล “พนฺธติ” ว่า “ย่อมผูก” แต่ “พนฺธติ” มีความหมายมากกว่านั้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ดังนี้ –

(1) to bind (ผูก)

(2) to tie on, bind or put on to (ผูกเข้าไป, มัด, รึงรัดหรือใส่เข้าไป)

(3) to fix, prepare, get up, put together (กำหนด, ตระเตรียม, จัดรวบรวม, เอารวมกัน)

(4) to acquire, get (ได้มา, ได้รับ)

(5) to compose (ประกอบ)

อภิปรายขยายความ :

ว่าตามเหตุผล-เช่นความหมายของศัพท์ การจะสะกดคำนี้เป็น “ผูกพันธ์” ก็นับว่าสมควร 

แต่ในเมื่อพจนานุกรมฯ อันเป็นมาตรฐานกลางของการสะกดคำในภาษาไทยกำหนดให้คำนี้สะกดเป็น “ผูกพัน” (ไม่มี ธ การันต์) เราก็ควรสะกดตามนี้

ถ้าเราต้องการให้คำนี้สะกดเป็น “ผูกพันธ์” และเป็นการสะกดที่ถูกต้องตามมาตรฐานกลาง วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ เสนอความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ-ซึ่งในกรณีนี้คือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา-ว่าคำนี้ควรสะกดเป็น “ผูกพันธ์” ด้วยเหตุผลอย่างนี้ ๆ 

เมื่อสำนักงานราชบัณฑิตยสภาพิจารณาแล้วเห็นชอบกับความคิดเห็นของเรา และประกาศแก้ไขคำเดิมที่สะกดเป็น “ผูกพัน” ว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปให้สะกดเป็น “ผูกพันธ์” เมื่อนั้นคนไทยทั้งประเทศหรือทั้งโลกก็จะสะกดคำนี้เป็น “ผูกพันธ์” ได้ด้วยความสบายใจ พร้อมกับระลึกถึงผู้เสนอให้แก้ไขด้วยความรู้สึกขอบคุณเป็นล้นพ้น 

นี่คือหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง

แต่อยู่ ๆ จะสะกดเป็น “ผูกพันธ์” ตามที่เราต้องการโดยไม่คำนึงถึงพจนานุกรมฯ หรืออ้างว่าพจนานุกรมฯ ไม่ใช่กฎหมาย เราไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม-ดังที่เคยมีผู้อ้างเช่นนี้มาแล้ว ย่อมเป็นการไม่ถูกต้องตามวิถีของชาติที่เจริญแล้ว

แล้วถ้าเกิดมีผู้เห็นว่าคำนี้ควรสะกดเป็นอย่างอื่นอีก เช่น ผูกพันธน์ ผูกพันธุ์ ผูกพรรค์ ผูกพรรณ ผูกภัณฑ์ ฯลฯ และต่างก็สะกดไปตามที่แต่ละคนพอใจ ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “การจลาจลทางภาษา” ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่ประการใดเลย

สรุปว่า “ผูกพันธ์” เป็นคำที่เขียนผิด

ผูกพัน” เป็นคำไทย สะกดตรงตัวแบบนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพราะไม่รู้จักเรียนจึงเขียนผิด

: เพราะไม่รู้จักพินิจจึงเขียนเพี้ยน

#บาลีวันละคำ (4,260)

10-2-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *