บาลีวันละคำ

ข้าวปลายเกรียน-น้ำส้มพะอูม (บาลีวันละคำ 4,264)

ข้าวปลายเกรียนน้ำส้มพะอูม

คืออาหารชนิดไหน

นักเรียนบาลีที่เรียนแปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาย่อมจะเคยแปลคำบาลีคำหนึ่งเป็นไทยว่า “ข้าวปลายเกรียนมีน้ำส้มพะอูมเป็นที่สอง”

“ข้าวปลายเกรียน” คือข้าวอะไร

“น้ำส้มพะอูม” คือน้ำสมอะไร

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 อนาถปิณฺฑิกวตฺถุ (เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี) เล่าเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีจัดอาหารไปเลี้ยงพระที่วัดพระเชตวันทุกวัน คราวหนึ่งเกิดวิกฤตทางเศรษกิจ ธุรกิจของอนาถบิณฑิกเศรษฐีขาดทุนย่อยยับถึงขั้นล้มละลาย พระพุทธเจ้าตรัสถามเศรษฐีว่ายังเลี้ยงพระอยู่หรือเปล่า เศรษฐีทูลว่า ยังเลี้ยงอยู่ แต่ต้องลดคุณภาพของอาหารที่ทำถวายพระลง

ข้อความตรงนี้คำบาลีว่า “ตญฺจ  โข  กณาชกํ  พิลงฺคทุติยํ” นักเรียนบาลีแปลกันมาว่า “แต่ทานที่ถวายพระนั้นเป็นข้าวปลายเกรียนมีน้ำส้มพะอูมเป็นที่สอง” 

ข้าวปลายเกรียน” แปลจากคำว่า “กณาชก

น้ำส้มพะอูม” แปลจากคำว่า “พิลงฺค

กณาชก” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า a porridge of broken rice 

พิลงฺค” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า sour gruel 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ไม่มีศัพท์ “กณาชก” แต่มีศัพท์ว่า “กณ” (กะ-นะ) รากศัพท์มาจาก กณฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย 

: กณฺ + = กณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปปกติ” หมายถึง รำข้าว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กณ” ว่า the fine red powder between the husk and the grain of rice, husk-powder (เคลือบข้าวก่อนขัดให้ขาว, รำข้าว)

ศัพท์ว่า “พิลงฺค” หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ฯ แสดงรากศัพท์ว่า มาจาก วาต (ลม) + ลงฺคฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย, แปลง วาต เป็น พิ 

: วาต + ลงฺคฺ = วาตลงฺคฺ + = วาตลงฺค > พิลงฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำลมให้เหม็น” หมายถึง น้ำผักดอง, น้ำชาวข้าว

พจนานุกรมบาลี-ไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปล “พิลงฺค” ว่า น้ำส้ม, น้ำผักดอง 

กณาชกํ  พิลงฺคทุติยํ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า a porridge of broken rice, eaten together with sour gruel

พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ แปลข้อความภาษาอังกฤษนั้นว่า “ข้าวปลายเกรียนซึ่งกินกับน้ำผักดอง”

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เกรียน” ไว้ 3 คำ เฉพาะ “เกรียน ๓” บอกไว้ว่า – 

เกรียน ๓ : (คำนาม) แป้งซึ่งนวดด้วยน้ำร้อนแล้วไม่น่ายเป็นเม็ดปนอยู่ เม็ดนั้นเรียกว่า เกรียน; เรียกปลายข้าวขนาดเล็กว่า ข้าวปลายเกรียน.”

(คำว่า “น่าย” ในคำนิยาม พจนานุกรมฯ บอกว่า อาการที่ของเหนียวของแข็งหรือของแห้งที่แช่น้ำไว้แล้วเปื่อยหรืออ่อนตัว เช่น แช่ข้าวไว้ให้น่ายแล้วจึงโม่)

ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “ข้าวปลายเกรียน” คือ ปลายข้าวขนาดเล็ก

คำว่า “ปลายข้าว” พจนานุกรมฯ บอกว่า “ข้าวสารที่เมล็ดแตกหรือแหลก”

ส่วนคำว่า “น้ำส้มพะอูม” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บไว้

แม้จะลองสะกดเป็น ผะอูม พอูม ผอูม พะโอม ผะโอม พโอม ผโอม ก็ไม่มีคำที่สะกดอย่างนี้ในพจนานุกรมฯ เป็นอันจนปัญญา ไม่อาจบอกได้ว่า “น้ำส้มพะอูม” คือน้ำสมแบบไหน และ “พะอูม” เป็นภาษาอะไร

คงได้แต่สันนิษฐานว่า คำบาลี “พิลงฺค” ที่นักเรียนไทยแปลกันว่า “น้ำส้มพะอูม” นั้น คือน้ำผักดอง

สรุปว่า “กณาชกํ  พิลงฺคทุติยํ” = ข้าวปลายเกรียนมีน้ำส้มพะอูมเป็นที่สอง คือปลายข้าวที่หุงหรือต้ม กินกับน้ำผักดอง เป็นอาหารในยามยากของชาวเอเชีย

ท่านผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น หรือมีข้อมูลเป็นอย่างอื่น ขอเชิญเข้ามาช่วยบูรณาการ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กินอะไร เป็นเรื่องสำคัญ

: แต่กินเพื่ออะไร สำคัญกว่า

#บาลีวันละคำ (4,264)

14-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *