บาลีวันละคำ

สีหคีรี (บาลีวันละคำ 4,266)

สีหคีรี

คำบาลีที่ไทยไม่รู้จัก

อ่านว่า สี-หะ-คี-รี

สีหคีรี” เขียนแบบบาลีเป็น “สีหคิริ” ประกอบด้วยคำว่า สีห + คิริ (ภาษาไทย -คีรี สระอี ภาษาบาลี -คิริ สระอิ)

(๑) “สีห” 

อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนมฤค

(2) สํ (จาก สํวิชฺชมาน = มีอยู่พร้อม) + อีหา (ความพยายาม) + ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ), ลบ และลบสระหน้า คือ อา ที่ (อี)-หา (อีหา > อีห)

: สํ > + อีหา = สีหา > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีความพยายามพร้อมที่จะฆ่ามฤค” 

สีห” (ปุงลิงค์) นักเรียนบาลีนิยมแปลเป็นไทยว่า ราชสีห์

บาลี “สีห” สันสกฤตเป็น “สึห” (สึ– สระ อึ = อิง ไม่ใช่สระ อี)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สึห : (คำนาม) ‘สิงห์,’ เกสริน, สัตว์มีผมคอ; สิงหราศิ, ราศีสิงห์; ต้นมะเขือ; มารดาของราหุหรือราหู; พาลพฤกษ์; ต้นพฤหดีหรือตรังตังช้าง; a lion; Leo, the sign of the zodiac; the egg-plant; the mother of Rahu; a shrub; the prickly night-shade. – (คำวิเศษณ์) (คำใช้ในการรจนา) วิศิษฏ์; เอก; (In composition) pre-eminent; chief.”

สีห” ในภาษาไทย การันต์ที่ เป็น “สีห์” อ่านว่า สี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีห-, สีห์, สีหะ : (คำนาม) ราชสีห์ เช่น ราชสีห์อาจจะตั้งใจหมายความว่า สีหะ ตัวที่เป็นนายฝูง. (สาส์นสมเด็จ). (ดู สิงห-, สิงห์ ๑). (ป.).”

ตามไปดูที่ “สิงห-, สิงห์ ๑” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สิงห-, สิงห์ ๑ : (คำนาม) สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกําลังมาก, ราชสีห์ ก็เรียก; ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เรียกว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี. (ส. สึห; ป. สีห).”

สรุปว่า บาลี “สีห” ในภาษาไทยใช้เป็น “สีห-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สีห์” “สีหะ” “สิงห-” และ “สิงห์

(๒) “คิริ” 

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า คิ-ริ (คำไทยสระ อี คำบาลีสระ อิ) รากศัพท์มาจาก คิรฺ (ธาตุ = ไหลออก, คาย) + อิ ปัจจัย 

: คิรฺ + อิ = คิริ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สถานที่คายสมุนไพรออกมา” (2) “สถานที่คายน้ำและตัวยาออกมา” หมายถึง ภูเขา (a mountain) 

โปรดสังเกตว่า “คิริ” ในบาลี กลายเสียงเป็น “คีรี” ในภาษาไทย เนื่องจากลิ้นไทยออกเสียง “คีรี” ง่ายกว่า “คิริ

สีห + คิริ = สีหคิริ แปลว่า “ภูเขามีสัณฐานเพียงดังสิงห์” 

ชื่อนี้สะกดตามบาลีเป็น “สีหคิริ” 

สะกดตามสะดวกลิ้นไทยเป็น “สีหคีรี

ขยายความ :

สีหคิริ” เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งในประเทศศรีลังกา มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของศรีลังกาที่เกี่ยวข้องกับภูเขาลูกนี้บันทึกไว้ในคัมภีร์ “มหาวํส” (มหาวงศ์) ซึ่งพระเถระชาวศรีลังการจนาไว้เป็นภาษาบาลีเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 (สมัยอรรถกถา) ออกชื่อภูเขานี้ว่า “สีหคิริ” 

หนังสือ DICTIONARY OF PALI PROPER NAMES ซึ่ง G.P. MALALASEKERA ชาวศรีลังกาเป็นผู้จัดทำ เรียกชื่อภูเขาลูกนี้เป็นคำบาลีเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Sīhagiri, Sīhapabbata, Sīhācala ถอดเป็นอักษรไทยว่า สีหคิริ, สีหปพฺพต, สีหาจล บรรยายความไว้ดังคำแปลต่อไปนี้ (ดูข้อความภาษาอังกฤษในภาพประกอบ) –

…………..

สีหคิริ, สีหปพฺพต, สีหาจล. – ป้อมปราการหินในตำบลมลยะ (Malaya district) ประเทศศรีลังกา หลังจากพระเจ้ากัสสปะที่ 1 ปลงพระชนม์พระราชบิดาของพระองค์ ได้หนีมาหลบภัยมาอยู่ที่นี่ โดยแผ้วถางพื้นที่รอบ ๆ ภูเขา และสร้างกำแพงล้อมรอบ จากนั้นสร้างบันไดขึ้นไปยังภูเขาหินรูปราชสีห์ พระเจ้ากัสสปะและข้าราชบริพารได้อาศัยอยู่ที่ป้อมนี้จนถูกปราบโดยพระเจ้าโมคคัลลานะผู้เป็นน้อง และได้ปลิดพระชนม์ชีพพระองค์เอง

มีการกล่าวกันว่า สีหคีรีมีวิหารหลายแห่ง เช่น ทัฬหะ (Daḷha) และทาฐาโกณฑัญญะ (Dāṭhākondañña) ซึ่งพระเจ้าโมคคัลลานะที่ 1 ได้พระราชทานให้กับสำนักธัมมรุจิ (Dhammaruci) และสาคลิกะ (Sāngalika) 

พระเจ้าสังฆติสสะ (Saṅghatissa), พระโอรส และเหล่าอำมาตย์ ถูกประหารที่สีหคิริตามคำสั่งของพระเจ้าโมคคัลลานะที่ 3 หลังจากนั้นพระเจ้าโมคคัลลานะก็ถูกปลงพระชนม์ที่นี่โดยพระเจ้าสิลาเมฆวัณณะ (Silāmeghavaṇṇa)

ปัจจุบันป้อมหินแห่งนี้มีชื่อเสียงจากภาพเขียนบนผนัง ซึ่งคล้ายกับภาพเขียนที่ถ้ำอชันตา (Ajanta)

ผู้แปล: ศิลปกร แสงสินชัย

…………..

อสาธารณนามในต้นฉบับภาษาอังกฤษถอดเป็นอักษรไทย ดังนี้ –

Sīhagiri, Sīhapabbata, Sīhācala = สีหคิริ, สีหปพฺพต, สีหาจล

Malaya district = มลยชนบท

Kassapa = กสฺสป

Moggallāna = โมคฺคลฺลาน

Daḷha = ทฬฺห

Dāṭhākoṇdañña = ทาฐาโกณฺฑญฺญ

Dhammaruci and Sāgalika scools = ธมฺมรุจิ และ สาคลิก

Saṅghatissa = สงฺฆติสฺส

Silāmeghvaṇṇa = สิลาเมฆวณฺณ

…………..

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 20:30 น.) ภาษาไทยสะกดชื่อ “สีหคิริ” เป็น “สีคิริยะ” บรรยายความไว้ดังนี้ –

…………..

สีคิริยะ (สิงหล: සීගිරිය) หรือ หินราชสีห์ เป็นเมืองในอำเภอมาตเล จังหวัดกลาง ตอนกลางของประเทศศรีลังกา ประกอบด้วยหินปลักภูเขาไฟความสูงประมาณ 370 เมตร ป้อมปราการและปราสาทโบราณ รายล้อมด้วยสวนหย่อมและระบบชลประทาน ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของศรีลังกา โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกหนึ่งในแปดแห่งของประเทศ

สีคิริยะมีประชากรอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีหลักฐานการสร้างวิหารพุทธมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ในคัมภีร์มหาวงศ์ระบุว่าป้อมปราการเหล่านี้สร้างขึ้นในคริสตศวรรษที่ 5 โดยพระเจ้ากัสสปะ ระหว่าง ค.ศ. 447 ถึง ค.ศ. 495 เพื่อป้องกันการชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าโมคคัลลานะ พระเชษฐาของพระองค์

…………..

อภิปราย :

สีหคีรี” เป็นคำที่ไวยากรณ์ไทยเรียกว่า วิสามานยนาม ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า อสาธารณนาม คำอังกฤษเรียกว่า proper name หมายความว่าเป็นชื่อเฉพาะ

สีหคีรี” เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่ง อยู่ในประเทศศรีลังกา ภูเขาลูกนี้มีลักษณะเหมือนสิงห์หมอบ จึงได้นามว่า “สีหคีรี” ซึ่งแปลว่า “ภูเขาที่มีสัณฐานเพียงดังสัณฐานแห่งสิงห์

คนสมัยใหม่เห็นชื่อ “สีหคีรี” น้อยคนที่จะรู้จัก แต่ถ้าเอ่ยถึงชื่อที่เขียนเป็นอักษรโรมัน (ที่เราเรียกกันเพลินไปว่า “ภาษาอังกฤษ”!) ว่า Sigiriya จะมีคนเป็นอันมากร้อง อ๋อ

ชื่อ “สีหคีรี” อักษรสิงหลเขียนว่า සීගිරිය 

อักษรโรมันที่เห็นกันทั่วไปเขียน Sigiriya

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ภาษาไทย สะกดคำนี้เป็น “สีคิริยะ”

คนไทยที่เคยไปเที่ยวศรีลังกากลับมาเอ่ยถึงชื่อนี้ว่า “สิกิริยา”

DICTIONARY OF PALI PROPER NAMES ของ G.P. MALALASEKERA (G. P. Malalasekera [1899-1973] เป็นชาวศรีลังกา) บอกว่า “Now Sīgiri” (ดูภาพประกอบ)

Now Sīgiri หมายความว่า ชื่อปัจจุบันเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Sīgiri 

เมื่อทำ DICTIONARY OF PALI PROPER NAMES ซึ่งผู้จัดทำระบุปีที่เขียนคำนำว่าคือปี 1937 คือ พ.ศ.2480 Now Sīgiri ก็หมายความว่าในปี พ.ศ.2480- หรือช่วงเวลานั้น ภูเขาลูกนี้มีชื่อที่เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Sīgiri

Sīgiri ถอดเป็นอักษรไทยว่า สีคิริ หรือ สีคีรี

เป็นอันว่า ภูเขาลูกนี้ชื่อเดิมอันเป็นคำบาลีคือ “สีหคิริ” Sīhagiri

แล้วกลายมาเป็น “สีคิริ” Sīgiri

แล้วกลายมาเป็น “สิกิริยา” Sigiriya

สรุปว่า “สีห” กลายเป็น สิ Si

คิริ” กลายเป็น คิริยะ หรือ กิริยะ giriya

จาก Sīhagiri

กลายเป็น Sigiriya

คัมภีร์มหาวํส เป็นคัมภีร์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของศรีลังกา พระมหานามพระเถระชาวศรีลังกาเป็นผู้แต่งเป็นคำฉันท์บาลี คนไทยรู้จักคัมภีร์นี้เป็นอย่างดี นิยมเรียกกันว่า “มหาวงศ์พงศาวดารลังกา” มีฉบับแปลเป็นไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

คัมภีร์มหาวํสเอ่ยถึงภูเขาลูกนี้และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ก็เรียกเป็นคำบาลีว่า “สีหคิริ” เข้าใจว่าคนศรีลังกาเองก็เรียกชื่อเดียวกันนี้ แต่คงออกเสียงแบบ “ลิ้นลังกา” คือออกเสียงรัวรวบเป็น สีคิริ และเมื่อเขียนเป็นอักษรโรมันก็เลยสะกดเป็น Sīgiri เริ่มห่างจาก Sīhagiri

นอกจากสะกดเป็น Sīgiri แล้ว เวลาออกเสียงจริง ๆ คงจะมีเสียง -ยะ ติดปลายคำแถมเข้ามาด้วย ในที่สุดก็เลยสะกดเป็น Sigiriya ห่างจาก Sīhagiri จนกลายเป็นคนละคำ

ปัจจุบัน คนทั่วไปเห็นแต่คำที่สะกดเป็นอักษรโรมันว่า Sigiriya จึงไม่มีใครนึกถึงว่าจะเป็น Sīgiri หรือ Sīhagiri หรือ “สีหคีรี

เป็นอันว่า Sigiriya และถอดเป็นอัษรไทยว่า สิกิริยา คนไทยรู้จักกันดี

แต่ “สีหคีรี” คนไทยไม่รู้จัก แม้เขียนเป็นอักษรโรมัน Sīhagiri ก็ยังทำหน้างงอยู่นั่นเองว่า ชื่อนี้คืออะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลืมคำบาลีที่เคยคุ้น ก็ไม่ว่าอะไร

: แต่ถ้าลืมคำไทย คนไทยก็หมดดี

#บาลีวันละคำ (4,266)

16-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *