บาลีวันละคำ

มหายาน (บาลีวันละคำ 4,267)

มหายาน

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านแบบไทยว่า มะ-หา-ยาน

มหายาน” อ่านแบบบาลีว่า มะ-หา-ยา-นะ ประกอบด้วยคำว่า มหา + ยาน 

(๑) “มหา” 

อ่านว่า มะ-หา รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –ยาน เปลี่ยนรูปเป็น “มหา” 

(๒) “ยาน

บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป” 

ยาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –

(1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding) 

(2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ยาน ๑ : (คำนาม) เครื่องนำไป, พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ, มักใช้เข้าคู่กับคำ พาหนะ เป็น ยานพาหนะ. (ป., ส.).”

มหนฺต + ยาน = มหนฺตยาน > มหายาน แปลว่า “ยานพาหนะขนาดใหญ่” “ยานที่มีขนาดกว้างใหญ่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มหายาน : (คำนาม) ชื่อนิกายในพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือที่ถือกันในทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และญวน เป็นต้น, อาจริยวาท ก็ว่า.”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “มหายาน” ไว้ดังนี้ –

…………..

มหายาน : “ยานใหญ่”, นิกายพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๕๐๐–๖๐๐ ปี โดยสืบสายจากนิกายที่แตกแยกออกไปเมื่อใกล้ พ.ศ.๑๐๐ (ถือกันว่าสืบต่อไปจากนิกายมหาสังฆิกะ ที่สูญไปแล้ว) เรียกชื่อตนว่ามหายาน และบางทีเรียกว่าโพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งเรียกพระพุทธศาสนาแบบเก่า ๆ รวมทั้งเถรวาทที่มีอยู่ก่อนว่า หีนยาน (คำว่าหีนยาน จึงเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ใช้เรียกสิ่งที่เก่ากว่า) หรือเรียกว่าสาวกยาน (ยานของสาวก), มหายานนั้นมีผู้นับถือมากในประเทศแถบเหนือของทวีปเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต และมองโกเลีย บางทีจึงเรียกว่า อุตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ) เป็นคู่กับ ทักษิณนิกาย (นิกายฝ่ายใต้) คือ เถรวาท ที่นับถืออยู่ในประเทศแถบใต้ เช่น ไทยและลังกา ซึ่งทางฝ่ายมหายานเรียกรวมไว้ในคำว่า หีนยาน, เนื่องจากเถรวาท เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม จึงมีคำเก่าเข้าคู่กันอันใช้เรียกนิกายทั้งหลายที่แยกออกไป รวมทั้งนิกายย่อยมากมายของมหายาน หรือเรียกมหายานรวม ๆ ไปว่า อาจริยวาท หรือ อาจารยวาท (ลัทธิของอาจารย์ ที่เป็นเจ้านิกายนั้นๆ), ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตคือ เถรวาท ไม่ว่าที่ไหน ในประเทศใด ก็ถือตามหลักการเดิมเหมือนกันหมด ส่วนมหายาน แยกเป็นนิกายย่อยมากมาย มีคำสอนและข้อปฏิบัติแตกต่างกันเองไกลกันมาก แม้แต่ในประเทศเดียวกัน เช่น ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีนิกายใหญ่ ๕ แยกย่อยออกไปอีกราว ๒๐๐ สาขานิกาย และในญี่ปุ่นพระมีครอบครัวได้แล้วทุกนิกาย แต่ในไต้หวัน เป็นต้น พระมหายานไม่มีครอบครัว.

…………..

แถม :

เพื่อให้เข้าใจพระพุทธศาสนาทั้ง 2 นิกายได้กว้างขวางขึ้น ขอนำคำอธิบายคำว่า “หินยาน, หีนยาน” จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอประกอบกันไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

…………..

หินยาน, หีนยาน : “ยานเลว”, “ยานที่ด้อย” (คำเดิมในภาษาบาลีและสันสกฤตเป็น ‘หีนยาน’, ในภาษาไทย นิยมเขียน ‘หินยาน’), เป็นคำที่นิกายพุทธศาสนาซึ่งเกิดภายหลัง เมื่อประมาณ พ.ศ.๕๐๐–๖๐๐ คิดขึ้น โดยเรียกตนเองว่า มหายาน (ยานพาหนะใหญ่มีคุณภาพดีที่จะช่วยขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้มากมายและอย่างได้ผลดี) แล้วเรียกพระพุทธศาสนาแบบอื่นที่มีอยู่ก่อนรวมกันไปว่าหีนยาน (ยานพาหนะต่ำต้อยด้อยคุณภาพที่ขนพาสัตว์ออกไปจากสังสารวัฏได้น้อยและด้อยผล), พุทธศาสนาแบบเถรวาท (อย่างที่บัดนี้นับถือกันอยู่ในไทย พม่า ลังกา เป็นต้น) ก็ถูกเรียกรวมไว้ในชื่อว่าเป็นนิกายหินยานด้วย

ปัจจุบัน พุทธศาสนาหินยานที่เป็นนิกายย่อย ๆ ทั้งหลายได้สูญสิ้นไปหมด (ตัวอย่างนิกายย่อยหนึ่งของหินยาน ที่เคยเด่นในอดีตบางสมัย คือ สรวาสติวาท หรือเรียกแบบบาลีว่า สัพพัตถิกวาท แต่ก็สูญไปนานแล้ว) เหลือแต่เถรวาทอย่างเดียว เมื่อพูดถึงหินยานจึงหมายถึงเถรวาท จนคนทั่วไปมักเข้าใจว่าหินยานกับเถรวาทมีความหมายเป็นอันเดียวกัน บางทีจึงถือว่าหินยานกับเถรวาทเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ แต่เมื่อคนรู้เข้าใจเรื่องราวดีขึ้น บัดนี้จึงนิยมเรียกว่า เถรวาท ไม่เรียกว่า หินยาน

เนื่องจากคำว่า “มหายาน” และ “หินยาน” เกิดขึ้นในยุคที่พุทธศาสนาแบบเดิมเลือนรางไปจากชมพูทวีป หลังพุทธกาลนานถึง ๕-๖ ศตวรรษ คำทั้งสองนี้จึงไม่มีในคัมภีร์บาลีแม้แต่รุ่นหลังในชั้นฎีกาและอนุฎีกา, ปัจจุบัน ขณะที่นิกายย่อยของหินยานหมดไป เหลือเพียงเถรวาทอย่างเดียว แต่มหายานกลับแตกแยกเป็นนิกายย่อยเพิ่มขึ้นมากมาย บางนิกายย่อยถึงกับไม่ยอมรับที่ได้ถูกจัดเป็นมหายาน แต่ถือตนว่าเป็นนิกายใหญ่อีกนิกายหนึ่งต่างหาก คือ พุทธศาสนาแบบทิเบต ซึ่งเรียกตนว่าเป็น วัชรยาน และถือตนว่าประเสริฐเลิศกว่ามหายาน

ถ้ายอมรับคำว่ามหายาน และหินยานแล้วเทียบจำนวนรวมของศาสนิก ตามตัวเลขในปี ๒๕๔๘ ว่า มีพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ๓๗๘ ล้านคน แบ่งเป็นมหายาน ๕๖% เป็นหินยาน ๓๘% (วัชรยานนับต่างหากจากมหายานเป็น ๖%) แต่ถ้าเทียบระหว่างประดานิกายย่อยของสองยานนั้น (ไม่นับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีตัวเลขไม่ชัด) ปรากฏว่า เถรวาทเป็นนิกายที่ใหญ่มีผู้นับถือมากที่สุด; บางทีเรียกมหายานว่า อุตรนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบเหนือของทวีปเอเชีย และเรียกหินยานว่า ทักษิณนิกาย เพราะมีศาสนิกส่วนใหญ่อยู่ในแถบใต้ของทวีปเอเชีย.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังดูถูกกันอยู่ทุกวันวาร

: ไม่ว่าอะไรยานก็ไปพระนฤพานด้วยตัวเองไม่ได้

: ไม่ต้องพูดถึงว่าจะพาใครไปด้วยนั่นเลย

#บาลีวันละคำ (4,267)

17-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *