Gone with the wind
Gone with the wind
————————
ท่านอาจารย์ผู้หญิงที่บ้านผมท่านไปจ่ายตลาดทุกวัน ถ้าท่านไปเห็นอะไรแปลกๆ ท่านก็จะเก็บเอามาบรรยายสรุปให้ผมฟัง
วันก่อนท่านไปเห็นพระนั่งบิณฑบาต เป็นพระผู้เฒ่ามากๆ คงเดินไม่ถนัดจึงต้องนั่ง
แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือ จะมีสุภาพสตรีสูงอายุคนหนึ่ง-สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นปุราณทุติยิกา-คอยดูแล เช่นคอยจัดจีวรที่ท่านห่มให้เรียบร้อยบ้าง จับตัวท่านให้ขยับท่านั้นท่านี้บ้าง
ท่านอาจารย์ผู้หญิงที่บ้านผมท่านตั้งข้อสงสัยว่า ผู้หญิงมาจับตัวพระแบบนี้ถูกต้องหรือ โดยเฉพาะทำกันกลางตลาด
ผมก็แสดงความเห็นประสาคนวัดที่มักจะเข้าข้างพระว่า คนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยรู้วินัยพระ สุภาพสตรีคนนั้นคงจะไม่รู้วินัยพระ รวมทั้งพระเองก็อาจจะไม่รู้วินัยของตัวท่านเอง
พูดตามประสามีไมตรีจิตต่อกันก็ว่า-โปรดให้อภัยในความไม่รู้ด้วยเถิด
——————-
ท่านอาจจะไม่รู้วินัยพระ-พูดไปแล้วก็อดสงสัยไม่ได้
ผมเป็นเด็กวัด ๕ ปีเต็มๆ เห็นชีวิตชาววัดสมัยเก่ามาพอสมควร (ยังไม่นับชีวิตเป็นสามเณร ๔ ปี และเป็นพระอีก ๑๐ ปี)
พระสมัยก่อน ทันทีที่ท่านครองผ้ากาสาวพัสตร์สำเร็จเป็นองค์พระ ท่านจะมีอาการระมัดระวังทุกย่างก้าว คอยมองหน้าพระพี่เลี้ยงหรือพระเก่าอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างนี้ได้ไหม ทำอย่างนั้นได้ไหม ท่านจะคอยสอบถามไปหมดทุกเรื่อง แม้กระทั่งฉันน้ำปานะตอนบ่าย ก่อนจะฉันท่านยังต้องมองพระเก่าเพื่อให้แน่ใจว่า “ไอ้นี่ฉันได้แน่นะ” ท่านกลัวไปหมดทุกเรื่องจนบางทีเด็กวัดอย่างเรานึกขำ
โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสีกาหรือสตรีเพศด้วยแล้ว ถือเป็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยทีเดียว
เรื่องข้างต้นโน้น ถ้าท่านไม่รู้ ทำไมท่านไม่ศึกษาสอบถามให้แน่ใจเสียก่อนว่าอย่างนี้อย่างโน้นทำได้ไหม
ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ท่านเอาเวลาไปทำอะไรอยู่
มองแง่นี้ คำที่พูดด้วยไมตรีจิตนั้นก็ให้ภาพในทางลบมากกว่าทางบวก
——————-
ความไม่รู้นั้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะไม่มีใครรู้อะไรไปหมดทุกเรื่อง
แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือการไม่ใฝ่รู้
เคยมีผู้เอาภาพเด็กญี่ปุ่นนั่งรอรถ (หรือรอเครื่องบิน) ระหว่างที่รออยู่นั้นทุกคนเอาหนังสือออกมาอ่านอย่างขะมักเขม้น
เมื่อเทียบกับเด็กไทย ทุกคนจะก้มหน้าเขี่ยโทรศัพท์เพื่อแสวงหาความบันเทิง
จึงทำให้สงสัยว่าเด็กไทยทุกวันนี้ยังมีความใฝ่รู้กันอยู่มากน้อยแค่ไหน
และจึงทำให้ต้องตั้งคำถามด้วยความระแวงว่า พระภิกษุสามเณรทุกวันนี้ท่านศึกษาพระธรรมวินัยกันมากน้อยแค่ไหน
แล้วก็เลยลามไปถึงชาวบ้านด้วยว่า คนไทยทุกวันนี้มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน
ความรู้ข้างนอกที่จะต่อกรกับคนต่างศาสนาเพื่อปกป้องศาสนาของตัว ก็ป้อแป้
ความรู้ข้างใน คือพระธรรมวินัยอันเป็นตัวศาสนาของตัวเองเพื่อจะรักษาศาสนาไว้ ก็ปวกเปียก
มองไปที่นโยบายของผู้บริหาร ก็ไม่มีแนวทางหรือทิศทางที่จะอบรมบ่มเพาะปลูกฝังอะไรกัน นอกจากอยู่กันไปแบบเรื่อยเปื่อย
เสนอแนะอะไรไป ท่านก็ไม่ฟัง ไม่รับ ไม่รู้ ไม่ยุ่ง
(แต่ถ้าไปตำหนิอะไรเข้า ท่านจะได้ยินทันที แล้วก็จะโกรธมาก)
อย่างกรณีปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยหรือปัญหาคาใจของสังคมที่มีอยู่มากมาย ผมเคยเสนอให้ตั้งสำนักวิชาการคณะสงฆ์
ระดมเปรียญเอกทั้งหลายซึ่งมีอยู่เป็นอเนกอนันต์มาเป็นคณะทำงาน
ป้อนปัญหาเข้าไป แล้วช่วยกันศึกษาค้นคว้าหาหลักฐาน หาคำตอบ
แล้วสร้างคลังข้อมูลขึ้น เอาคำตอบไปใส่ไว้
ใครสงสัยเรื่องอะไรก็สามารถคลิกเข้าไปค้นหาได้ทันที
ไม่ต้องรอให้ทองย้อยงมหาคำตอบมาให้อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี่เลย
เปรียญของเราที่สอบได้ปีละมากๆ ก็จะได้มีงานทำที่ตรงสายที่สุด เป็นงานที่เกื้อกูลแก่พระศาสนามากที่สุด
แต่มันก็ gone with the wind เช่นเดียวกับข้อเสนอแนะอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวง
มองไปในอนาคตจึงเหมือนกับจะไม่เห็นอนาคตอะไรเลย
แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจนะครับ
——————-
เมื่อเห็นแล้วว่าเราน่าจะฝากพระศาสนาไว้กับชาววัดไม่ได้เสียแล้วเช่นนี้ ชาวบ้านเราก็ต้องช่วยกัน
อันดับแรกที่ทำได้ทันที ไม่ต้องรอนโยบายจากใคร และไม่ต้องรอใคร ก็คือช่วยกันศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยให้มากขึ้น
น่าขอบคุณวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้มนุษย์ผลิตอุปกรณ์ทันสมัยมาให้เราใช้ ทำให้เราเข้าถึงแหล่งความรู้ทางพระศาสนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ทำให้เราสามารถอ่านพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ได้อย่างสะดวกสบายแทบจะทุกหนทุกแห่ง
สิ่งที่ยังขาดอยู่อย่างเดียวก็คือ หัวใจใฝ่รู้
ช่วยกันฝึกสร้างหัวใจใฝ่เรียนรู้ให้มีขึ้น และให้มีมากขึ้นจนเป็นนิสัย และจนกระทั่งเป็นสันดาน
เริ่มด้วยการตั้งกติกากับตัวเองว่า จะคลิกเข้าไปอ่านพระไตรปิฎกทุกวัน โดยถือว่าเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้
อย่าลืมว่าคุณสมบัติของชาวพุทธที่จะช่วยรักษาพระศาสนาไว้ได้ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็คือ –
ศึกษาเล่าเรียน
พากเพียรปฏิบัติ
เคร่งครัดบำรุง
มุ่งหน้าเผยแผ่
แก้ไขให้หมดจด
(ถอดความจากพระพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร)
“ศึกษาเล่าเรียน” จึงเป็นกิจเบื้องต้นที่สุด
ลงมือวันนี้เลย
อย่ารอให้พระพุทธศาสนา Gone with the wind นะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒
๑๖:๕๒