อุบาทว์ (บาลีวันละคำ 472)
อุบาทว์
อ่านว่า อุ-บาด
บาลีเป็น “อุปทฺทว” อ่านว่า อุ-ปัด-ทะ-วะ
“อุปทฺทว” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เข้าไปทำให้เดือดร้อน” “สิ่งที่เข้าไปเบียดเบียน” หมายถึง อุปัทวเหตุ, เคราะห์ร้าย, ความทุกข์, ความยุ่งยาก, การกดขี่, การรบกวน, การทำให้ลำบาก, การเบียดเบียน, การทำให้วุ่นวาย
“อุปทฺทว” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุปัทวะ” (อุ-ปัด-ทะ-วะ) และกลายรูปเป็น “อุบาทว์” (อุ-บาด, ยืดเสียง ปัท เป็น ปาท, ลดรูป ป เป็น บ, ตัด ท ออกตัวหนึ่ง, ว ไม่ออกเสียง)
พจน.42 บอกว่า –
“อุปัทวะ : อุบาทว์, อัปรีย์, จัญไร, ไม่เป็นมงคล, นิยมใช้คู่กับคำ อันตราย เป็น อุปัทวันตราย”
“อุบาทว์ : อัปรีย์, จัญไร, ไม่เป็นมงคล”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ บอกว่า –
“อุปัทวะ : อุบาทว์, สิ่งเลวร้ายที่ก่อความเดือดร้อนหรือกีดกั้นขัดขวางไม่ให้เป็นอยู่เป็นไปด้วยดี, บางทีพูดควบกับอันตราย เป็น อุปัทวันตราย (อุปัทวะและอันตราย)”
คำว่า “อุบาทว์” ใช้เป็นคำด่าหรือตำหนิเมื่อมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม ฝืนขนบประเพณีอันดีงาม ขัดต่อศีลธรรม หรือผิดกาลเทศะ เช่น “ไอ้พวกอุบาทว์ขโมยของวัด” “มาทำอุบาทว์อะไรกันในวัดในวา”
นิทานปริศนาธรรม :
มีเมืองหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรือง ต่อมาร่วงโรย ล้าหลัง รุงรัง เละเทะ จนแทบไม่เป็นเมือง
เทวดามาบอกเจ้าเมืองว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะตัวอุบาทว์ลง ถ้ากำจัดตัวอุบาทว์ได้ บ้านเมืองก็จะเจริญ
30-8-56