ราชภัฏ (บาลีวันละคำ 616)
ราชภัฏ
อ่านว่า ราด-ชะ-พัด
ประกอบด้วย ราช + ภัฏ
“ราช” (บาลีอ่านว่า รา-ชะ) แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน” เช่น ราชการ = งานของพระเจ้าแผ่นดิน
“ภัฏ” บาลีเป็น “ภฏ” (พะ-ตะ) เป็นคำกริยา และใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย แปลตามศัพท์ว่า “ถูกเลี้ยงแล้ว” “ประกอบ (การงาน) แล้ว” หมายถึง คนใช้, ลูกจ้าง, ทหาร (ฝรั่งแปลคำนี้ว่า servant, hireling, soldier)
ราช + ภฏ = ราชภฏ (รา-ชะ-พะ-ตะ) เขียนแบบไทยเป็น “ราชภัฏ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่พระราชาชุบเลี้ยง” หรือ “ผู้ประกอบการงานของพระราชา”
คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ให้คำจำกัดความว่า “ราชภัฏ” คือข้าราชการทุกระดับที่เป็น “รญฺโญ ภตฺตเวตนภโฏ” (รัน-โย พัด-ตะ-เว-ตะ-นะ-พะ-โต) = “ผู้ถูกเลี้ยงดูด้วยค่าจ้างของพระราชา”
“ราชภัฏ” ตามความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบันก็คือ “ข้าราชการ”
ในเมืองไทย คำว่า “ราชภัฏ” รู้จักกันแพร่หลายในฐานะเป็นนามของสถาบันอุดมศึกษา คือ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
คำว่า “ราชภัฏ – ข้าราชการ” ย่อมสอดคล้องกับคำที่นิยมกล่าวกันว่า “ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
โปรดสังเกตว่า “ภฏ – ภัฏ” คำเดียว หมายถึง คนใช้, ลูกจ้าง, ทหาร ของใครก็ได้ แต่เมื่อมี “ราช” เข้ามาประกอบ ความหมายก็จำกัดเข้า เป็น คนใช้ของพระราชา, ลูกจ้างของพระราชา, ทหารของพระราชา หรือเรียกรวมว่า “คนของพระราชา”
“คนของพระราชา” คือคนที่ทำงานของพระราชา
งานของพระราชา คือทำให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข
: ถ้าทำให้ราษฎรเหลือทน ก็ไม่ใช่ “คนของพระราชา”
22-1-57