บาลีวันละคำ

สมณสารูป (บาลีวันละคำ 615)

สมณสารูป

อ่านว่า สะ-มะ-นะ-สา-รูบ

ประกอบด้วยคำว่า สมณ + สารูป

สมณ” แปลว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

สารูป” บาลีอ่านว่า สา-รู-ปะ คำนี้เป็น “สารุปฺป” (สา-รุบ-ปะ) ได้ด้วย

โปรดสังเกต “สา” หัวท้ายตรงกัน ส่วนพยางค์กลาง ถ้าเป็นสระ อูรู– ไม่มี สะกด คือคงเป็น สารูป (สระ อู-ป ตัวเดียว) ไม่ใช่ สารูปฺป แต่ถ้าเป็น สระ อุรุ– ต้องมี ปฺ สะกด คือเป็น สารุปฺป (สระ อุ-ซ้อน ป) ไม่ใช่ สารุป

สารูปสารุปฺป”แปลตามศัพท์ว่า “รูปของตน” ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ความเสมอกัน (equal state) ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง เหมาะ, เหมาะสม, สมควร  (fit, suitable, proper)

สมณ + สารูป = สมณสารูป มีความหมายว่า ความประพฤติอันสมควรแก่สมณะ

พจน.42 บอกไว้ว่า

สมณสารูป : (คุณศัพท์) ที่สมควรแก่พระ (ใช้แก่กิริยามารยาทเป็นต้น); (คำนาม) กิริยามารยาทเป็นต้นที่สมควรแก่สมณะ เช่น ภิกษุพูดจาควรมีสมณสารูป”

แค่ไหนอย่างไรจึงจะ “สมควรแก่สมณะ” ?

ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 24 ข้อ 48 แสดงหลักธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ 10 ข้อ มีที่เกี่ยวกับ “สมณสารูป” ดังนี้

– บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ = ชาวบ้านทำได้ แต่พระทำ ไม่งาม

– อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้ = ยังต้องทำตัวให้ดีกว่านี้

– ตัวของเราเอง ติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่ = ตำหนิตัวเองได้หรือไม่

– ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่ = สังคมตำหนิหรือไม่

สรุปว่า “สมณสารูป” จะเกิดได้ (1) สมณะต้องเตือนตัวเอง และ (2) ฟังเสียงชาวบ้านเตือน

แถม :

มีคำที่เราพูดกัน เช่น “สารรูปดูไม่ได้” “ไม่ดูสารรูปตัวเอง” (สารรูป : สา-ระ-รูบ)หมายถึงเนื้อตัว หน้าตา เสื้อผ้า การแต่งกาย (และหมายรวมถึงความประพฤติด้วย) สกปรกหรือไม่เหมาะสม

สารรูป” คำนี้ (ไม่มีใน พจน.42) เพี้ยนมาจาก “สารูป” นั่นเอง

: ประพฤติชอบปฏิบัติดี เป็นหน้าที่ของสมณะ

: สัมมาคารวะ เป็นหน้าที่ของญาติโยม

(ความบกพร่องของฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่เหตุผลที่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องบกพร่องต่อหน้าที่ไปด้วย)

21-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย