เวที (บาลีวันละคำ 617)
เวที
อ่านว่า เว-ที
บาลีเป็น “เวที” (เป็น “เวทิ” (เว-ทิ) ก็มี)
“เวที” ในบาลีมีความหมาย 3 อย่าง คือ –
1. “เวที” แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ได้ลาภสักการะ” หมายถึง แท่น, ที่บูชา, โต๊ะบูชา, หิ้ง, ชานที่ยื่นออกมา (จากผนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง)
“เวที” ความหมายนี้นำมาใช้ในภาษาไทย ตามที่ พจน.42 บอกไว้ดังนี้ –
“เวที : ที่ที่ยกขึ้นให้สูงใช้เป็นที่ทําการสักการบูชา, แท่นบูชา; ยกพื้นสําหรับเล่นละครและอื่น ๆ เช่น เวทีละคร เวทีมวย”
2. “เวที” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรู้” หมายถึง ผู้รู้, นักปราชญ์, คนมีความเชี่ยวชาญทางใดทางหนึ่ง เช่นในคำว่า
– “ธมฺมเวที” (ทำ-มะ-เว-ที) = ผู้รู้ธรรม
– “กูฏเวที” (กู-ตะ-เว-ที) = ผู้เชี่ยวชาญการโกง
อรรถกถาชนสันธชาดก ขยายความคำว่า กูฏเวที ว่าหมายถึง ผู้รู้จักการโกง คือโกงชาวบ้านบ้าง ก่อความเสียหายให้แก่สังคมบ้าง โกงการชั่ง (คือโกงน้ำหนักหรือปริมาณสินค้า) บ้าง โกงในการพิจารณาคดีบ้าง
3. “เวที” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกาศ” หรือ “ผู้ทำให้ปรากฎ” หมายถึง ผู้ทำให้คนอื่นรับรู้, ผู้ตอบแทนบุญคุณ เช่นในคำว่า
– “กตเวที” (กะ-ตะ-เว-ที) = ผู้ประกาศอุปการะที่ท่านทำแล้ว
เป็นคำที่พูดคู่กับคำว่า “กตญฺญู” = กตัญญูกตเวที
กตัญญู : ตนเองรู้
กตเวที : ประกาศให้คนอื่นรู้ด้วย (บางคนตนเองรู้ แต่ไม่บอกให้คนอื่นรู้ด้วยว่าใครมีพระคุณต่อตน)
: ถ้าเวทีมีธรรม ก็ได้ผู้นำเป็นเมธี
: ถ้าเวทีอับธรรม ก็ได้ผู้นำอัปรีย์
23-1-57