บาลีวันละคำ

ทะเลสาบ (บาลีวันละคำ 4,277)

ทะเลสาบ

สะกดอย่างนี้ บาลีว่าอย่างไร

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก เป็นคัมภีร์แบบเรียน 1 ใน 5 คัมภีร์ของนักเรียนบาลีตามหลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์ไทย ฉบับแปลเป็นไทยมีคำแปลว่า “ทะเลสาบ” อยู่ 2 แห่ง เมื่อตามไปดูต้นฉบับบาลีก็พบว่า –

แห่งหนึ่งแปลจากคำบาลีว่า “โลณิสมุทฺท” อยู่ในสมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 121 

อีกแห่งหนึ่งแปลจากคำบาลีว่า “โลณิ” อยู่ในสมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 142

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด 91 เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม 24 (สังยุตนิกาย สคาถวรรค) อรรถกถามหาสมยสูตร มีคำแปลว่า “ทะเลสาบ” หลายแห่งในหน้า 207-208 ตามไปดูต้นฉบับบาลีก็พบว่า แปลจากคำบาลีว่า “กุณาลทห” ภาษาไทยแปลว่า “ทะเลสาบอันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งนกดุเหว่า” (“กุณาล” แปลว่า นกดุเหว่า)

เป็นอันว่า คำแปลว่า “ทะเลสาบ” ที่พบในคัมภีร์บาลีที่แปลเป็นไทย แปลจากคำบาลีว่า “โลณิสมุทฺท” “โลณิ” และ “ทห

โลณิสมุทฺท” อ่านว่า โล-นิ-สะ-มุด-ทะ แปลว่า “ทะเลน้ำเค็ม

โลณิ” อ่านว่า โล-นิ แปลว่า “แหล่งที่มีน้ำเค็ม

ทห” อ่านว่า ทะ-หะ แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งที่ขังน้ำไว้” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ทห” ว่า สระ บึง หนอง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทห” ว่า a lake (ทะเลสาบ)

ขยายความ :

คำว่า “ทะเลสาบ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ทะเลสาบ : (คำนาม) ห้วงน้ำใหญ่ที่มีแผ่นดินล้อมรอบ มี ๒ ชนิด คือ ทะเลสาบน้ำจืด และทะเลสาบน้ำเค็ม. (ข. สาบ ว่า จืด).”

ดูตามนิยามของพจนานุกรมฯ แล้วดูคำบาลีคือ “โลณิสมุทฺท” และ “โลณิ” ที่แปลว่า “ทะเลสาบ” ผู้แปลน่าจะเข้าใจว่า ทะเลสาบหมายถึงแหล่งน้ำที่เป็นน้ำเค็ม แต่ไม่ใช่ทะเล 

แหล่งน้ำที่เป็นน้ำจืด เรามีคำเรียกที่คุ้นกันดีคือ ห้วยหนองคลองบึง แต่มีแหล่งน้ำบางแห่งที่ไม่ใช่ทะเล แต่เป็นน้ำเค็ม จึงเรียกยักเยื้องไปว่า “ทะเลสาบ” คือ เรียก “ทะเล” เพราะเป็นน้ำเค็ม เรียกว่า “สาบ” (แปลว่า จืด) เพราะมาอยู่ในแหล่งที่ปกติเป็นที่ขังน้ำจืด 

ความเข้าใจของคนไทย-โดยเฉพาะคนที่แปล “โลณิสมุทฺท” และ “โลณิ” ว่า “ทะเลสาบ”-คงเป็นเช่นว่านี้ คือเข้าใจว่า ทะเลสาบต้องเป็นน้ำเค็ม

แต่เมื่อดูคำนิยามของพจนานุกรมฯ บอกว่า ทะเลสาบมี 2 ชนิด คือ ทะเลสาบน้ำจืด และทะเลสาบน้ำเค็ม ก็ชวนให้สงสัยว่า ผู้แปล “โลณิสมุทฺท” และ “โลณิ” ว่า “ทะเลสาบ” รู้หรือเปล่าว่า ทะเลสาบมี 2 ชนิด ถ้ารู้ ทำไมจึงไม่แปลให้ชัดลงไปตามศัพท์ว่า “ทะเลสาบน้ำเค็ม” (“โลณิ” แปลว่า เค็ม) 

ถ้า “โลณิสมุทฺท” และ “โลณิ” แปลว่า “ทะเลสาบน้ำเค็ม” แล้ว “ทะเลสาบน้ำจืด” เล่า คำบาลีจะว่าอย่างไร?

คำว่า “ทห” ที่แปลว่า “ทะเลสาบ” เหมือนกันนั้น รอดตัวไป เพราะรูปศัพท์ไม่ได้ระบุว่าเค็มหรือจืด เป็นอันว่า “ทห” เป็นทะเลสาบได้ทั้ง 2 ชนิด ทั้งยังมีคำแปลเป็นอังกฤษว่า a lake เป็นเครื่องรับรอง นั่นคือ “ทะเลสาบ” ใช้คำบาลีว่า “ทห” ได้แน่นอน

ทะเลสาบ” คำอังกฤษว่า lake

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล lake เป็นบาลีดังนี้: 

(1) taḷāka ตฬาก (ตะ-ลา-กะ) = บึง, หนอง

(2) sara สร (สะ-ระ) = สระน้ำ

(3) daha ทห (ทะ-หะ) = ห้วงน้ำ, สระน้ำ, ทะเลสาบ

นอกจากนี้ ยังมี lake อีกบางคำ ดังนี้ –

natural lake: 

jātassara ชาตสฺสร (ชา-ตัด-สะ-ระ) = สระธรรมชาติ, ทะเลสาบ 

artificial lake: 

(1) vāpi วาปิ (วา-ปิ) = บึง 

(2) jalāsaya ชลาสย (ชะ-ลา-สะ-ยะ) = แหล่งน้ำ 

small lake: 

pallala ปลฺลล (ปัน-ละ-ละ) = หนอง, สระ

สรุป :

นอกจาก “โลณิสมุทฺท” และ “โลณิ” ซึ่งหมายถึง “ทะเลสาบน้ำเค็ม” แล้ว คำว่า “ทะเลสาบ” ยังใช้คำบาลีได้อีกหลายคำ คือ –

(1) ตฬาก (ตะ-ลา-กะ) = บึง, หนอง

(2) สร (สะ-ระ) = สระน้ำ

(3) ทห (ทะ-หะ) = ห้วงน้ำ, สระน้ำ, ทะเลสาบ

(4) ชาตสฺสร (ชา-ตัด-สะ-ระ) = สระธรรมชาติ, ทะเลสาบ 

(5) วาปิ (วา-ปิ) = บึง 

(6) ชลาสย (ชะ-ลา-สะ-ยะ) = แหล่งน้ำ 

(7) ปลฺลล (ปัน-ละ-ละ) = หนอง, สระ

…………..

แถม :

ที่ยกคำว่า “ทะเลสาบ” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำ เนื่องจากได้อ่านข้อความที่มีผู้เขียนเผยแพร่ทางสื่อมวลชน เอ่ยถึง “ทะเลสาบ” หลายครั้ง แต่ทุกครั้งสะกดเป็น “ทะเลสาป” คือ “-สาป” ใช้ ป ปลา ซึ่งเป็นการสะกดผิด

โปรดช่วยกันจำไว้ว่า คำว่า “ทะเลสาบ” “-สาบ” บ ใบไม้ ไม่ใช่ ป ปลา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดถูกฉับพลัน ความรู้มาทันฉับไว

: เพียงแค่เปิดใจ หมั่นเปิดพจนานุกรม

#บาลีวันละคำ (4,277)

27-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *