บาลีวันละคำ

ลหุภาโว (บาลีวันละคำ 4,278)

ลหุภาโว

“ความเป็นคนผลุนผลัน” หมายความว่าอย่างไร

อ่านว่า ละ-หุ-พา-โว

ประกอบด้วยคำว่า ลหุ + ภาโว

(๑) “ลหุ” 

อ่านว่า ละ-หุ รากศัพท์มาจาก ลงฺฆฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, ลบ งฺ แล้วแปลง ฆฺ เป็น หฺ (ลงฺฆฺ > ลฆฺ > ลหฺ)

: ลงฺฆฺ + อุ = ลงฺฆุ > ลฆุ > ลหุ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เป็นไปอย่างเบา” หมายถึง เบา, เร็ว (light, quick)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลหุ : (คำวิเศษณ์) เบา; เร็ว, ฉับไว; ใช้ในตำราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด เช่น จะ มิ ดุ, ใช้เครื่องหมาย (สระ อุ) แทน, คู่กับ ครุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย (ไม้หันอากาศ) แทน.”

(๒) “ภาโว” 

รูปคำเดิมเป็น “ภาว” อ่านว่า พา-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว

: ภู + = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลว่า ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”

ลหุ + ภาว = ลหุภาว (ละ-หุ-พา-วะ) แปลว่า “ความเป็นสิ่งที่เบา” “ความเป็นผู้เบา” หรือ “ความเบา

ลหุภาว” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ลหุภาโว

ขยายความ :

คำว่า “ลหุภาโว” ที่นักเรียนบาลีรู้จักกันดีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 เรื่องพระโลฬุทายี (โลฬุทายิตฺเถรวตฺถุ เรื่องที่ 124 ชราวรรค) 

พระโลฬุทายีเป็นพระที่มักสวดมนต์ผิดงานอยู่เรื่อย เช่นงานมงคลสวดบทอวมงคล งานอวมงคลสวดบทมงคล พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อชาติก่อนพระโลฬุทายีก็พูดผิด ๆ ถูก ๆ แบบนี้มาแล้ว แล้วตรัสเล่าอดีตชาติ

เรื่องในอดีตชาติ พระโลฬุทายีเป็นพ่อ พระพุทธเจ้าเป็นลูก ลูกชายรับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระราชา พ่อทำนา อยู่มาวัวที่ใช้ไถนาซึ่งมีอยู่ 2 ตัวตายไปตัวหนึ่ง พ่อบอกให้ลูกไปทูลขอวัวกับพระเจ้าแผ่นดิน

ลูกมีเหตุผลบางประการ บอกว่าพ่อควรไปทูลขอด้วยตัวเอง แล้วก็ซักซ้อมระเบียบการเข้าเฝ้า ฝึกคำพูดกราบทูลให้พ่อ เนื่องจากพ่อหัวทึบหน่อยต้องใช้เวลาฝึกซ้อมตั้งปีหนึ่งจนพอจะแน่ใจว่าสามารถเข้าเฝ้ากราบทูลขอวัวได้

เหตุผลของลูกที่ไม่ทูลขอวัวให้พ่อปรากฏอยู่ในข้อความที่เป็นความคิดของลูก ดังนี้

………………………

โสมทตฺโต “สจาหํ  ราชานํ  ยาจิสฺสามิ,  ลหุภาโว  เม  ปญฺญายิสฺสตีติ  จินฺเตตฺวา  …

โสมทัต (คือลูก) คิดว่า “ถ้าเราจักขอพระราชทานไซร้ ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา” 

………………………

“ลหุภาโว  เม  ปญฺญายิสฺสติ” 

แปลตามสำนวนแปลเดิมว่า “ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา”

“ความเป็นคนผลุนผลัน” คำบาลีว่า “ลหุภาโว” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นคนเบา” หมายถึง มีใจเบา, เบาความคิด, ไม่ใช้ความคิดในเรื่องสำคัญ (light-minded)

พิจารณาในเรื่องพ่อ-ลูกที่พระพุทธองค์ตรัสเล่า “ลหุภาโว” ก็คือ ความเห็นแก่แต่จะได้ คือจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนลืมนึกถึงความควรไม่ควร

ลูกเกรงว่า สังคมจะมองอย่างนั้น (ลหุภาโว  เม  ปญฺญายิสฺสติ = ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา) จึงไม่ยอมทูลขอวัว แต่ให้พ่อไปทูลขอเอง

ผลของการที่พ่อเข้าเฝ้าทูลขอวัวเองเป็นอย่างไร ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ว่า –

วันเข้าเฝ้า ลูกไปอยู่ในที่เฝ้าก่อนตามตำแหน่งหน้าที่ ถึงเวลาพ่อก็เข้าเฝ้าตามระเบียบที่ซักซ้อมไว้

คำกราบทูลตามที่ซักซ้อมไว้เป็นดังนี้ –

………………………

เทฺว เม โคณา มหาราช

เยหิ เขตฺตํ กสาม เส

เตสุ เอโก มโต เทว

ทุติยํ เทหิ ขตฺติย.

ขอเดชะ 

โคสำหรับไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว

ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่งล้มเสียแล้ว

ขอสมมุติเทพจงพระราชทานตัวที่ ๒ เถิดพระเจ้าข้า

………………………

แต่ครั้นถึงเวลากราบทูลจริง พ่อกลับกราบทูลไปเสียอีกอย่างหนึ่ง

คำกราบทูลจริงเป็นดังนี้ –

………………………

เทฺว เม โคณา มหาราช

เยหิ เขตฺตํ กสาม เส

เตสุ เอโก มโต เทว

ทุติยํ คณฺห ขตฺติย.

ขอเดชะ 

โคสำหรับไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว

ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่งล้มเสียแล้ว

ขอสมมุติเทพจงทรงรับเอาตัวที่ ๒ มาเสียเถิดพระเจ้าข้า

………………………

แทนที่จะทูลขอโค กลับทูลถวายโค

พระราชารู้ว่าตาพ่อพูดผิด ตรัสให้พูดใหม่ ก็ยังพูดผิดเหมือนเดิม จึงทรงเย้าไปทางลูกว่า ที่บ้านมีวัวมากหรือ 

ลูกมีปฏิภาณดีกราบทูลว่า ถ้าพระราชทานไปก็จะมีมากพระเจ้าข้า

คำตอบนี้พระราชาทรงโปรดมาก พระราชทานวัว ๑๖ ตัว มากกว่าที่ขอหลายเท่า นอกจากนี้ยังพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ อีกมาก

พ่อมาเป็นพระโลฬุทายี ลูกมาเป็นพระพุทธเจ้า

เรื่องนี้น่าขบขันในความเขลาของผู้เป็นพ่อ น่าชมปฏิภาณของผู้เป็นลูก แต่ที่ควรชมเป็นพิเศษก็คือ หลักการครองตนของผู้อยู่ใกล้ชิดนายและเป็นคนโปรดของนาย

เท่าที่ประพฤติกันทั่วไป คนประเภทนี้มักอาศัยอำนาจหรือบารมีของนายแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันอย่างเต็มที่ 

ความประพฤติเช่นนี้ท่านเรียกว่า “ลหุภาโว” = “ความเป็นคนผลุนผลัน” คือความเห็นแก่แต่จะได้จะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนลืมนึกถึงความควรไม่ควร

…………..

ศึกษาเรื่องพระโลฬุทายีในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=21&p=7

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอมอด มักจะได้

: เห็นแก่ได้ มักจะอด

#บาลีวันละคำ (4,278)

28-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *