บาลีวันละคำ

เทเวศรนฤมิตร (บาลีวันละคำ 3,551)

เทเวศรนฤมิตร

อ่านว่า เท-เวด-นะ-รึ-มิด

ประกอบด้วยคำว่า เทเวศร + นฤมิตร 

(๑) “เทเวศร

คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดเป็น “เทเวศ” “เทเวศร์” “เทเวศวร์” ทุกคำอ่านว่า เท-เวด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

เทเวศ, เทเวศร์, เทเวศวร์ : (คำนาม) เทวดาผู้เป็นใหญ่, หัวหน้าเทวดา; พระราชา, เจ้านาย.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ – 

เทเวศ, เทเวศร์, เทเวศวร์ : (คำนาม) เทวดาผู้เป็นใหญ่, หัวหน้าเทวดา; พระมหากษัตริย์, เจ้านาย.”

นั่นคือ ความหมายที่พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “พระราชา” พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 ปรับแก้เป็น “พระมหากษัตริย์” 

ว่าตามความมุ่งหมาย “พระราชา” กับ “พระมหากษัตริย์” หมายถึงบุคคลชนิดเดียวกัน 

น่าศึกษาว่า พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 มีเหตุผลอย่างไรจึงเปลี่ยนคำว่า “พระราชา” เป็น “พระมหากษัตริย์” บันทึกการประชุมของคณะกรรมการฯ ย่อมมีเหตุผลแสดงไว้ ถ้ารู้เหตุผลนั้นเราก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้น แต่คนทั่วไปไม่มีโอกาสจะรับรู้ได้ นับว่าน่าเสียดายมาก

คำว่า “เทเวศ” “เทเวศร์” “เทเวศวร์” รูปคำบาลีประกอบด้วย เทว + อิสฺสร

(ก) “เทว” บาลีอ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” 

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

(ข) “อิสฺสร” อ่านว่า อิด-สะ-ระ รากศัพท์มาจาก 

(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยม ใช้ว่า “อิสร-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า อิสฺสร > อิสระ ตรงกับสันสกฤตว่า “อีศฺวร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเป็นเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป; ‘īśvara’ the supreme ruler o f the universe, God; this word is applied to all the different divinities.”

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อีศวร” ไว้ โดยบอกว่า อีศวร คือ “อิศวร” หมายความว่าคำหลักเขียนเป็น “อิศวร” แต่จะเขียนเป็น “อีศวร” ก็ได้ ถ้าเขียนเป็น “อีศวร” ก็ให้หมายถึง “อิศวร” นั่นเอง

ที่คำว่า “อิศวร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

อิศวร : (คำนาม) ชื่อเรียกพระศิวะซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของพราหมณ์; ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส และแผลงเป็น เอศวร เช่น นเรศวร ราเมศวร, ใช้ย่อเป็น อิศร (อ่านว่า อิสวน) ก็มี เช่น ใยยกพระธำมรงค์ สำหรับองค์อิศรราช. (เพชรมงกุฎ). (ส. อีศฺวร).”

สรุปว่า “อิศร” มาจาก “อีศฺวร” และมักใช้เป็น “อิศวร” 

อีศฺวร” หรือ “อิศวร” บาลีเป็น “อิสฺสร” เขียนแบบไทยเป็น “อิสร

อิศร” (อีศฺวร) และ “อิสร” (อิสฺสร) เป็นคำที่มีมูลอันเดียวกัน

เทว + อิสฺสร = เทวิสฺสร (เท-วิด-สะ-ระ) แปลว่า (1) “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา” (2) “เทวดาผู้เป็นใหญ่” 

เทวิสฺสร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทเวศ” “เทเวศร์” “เทเวศวร์” มีความหมาย 2 อย่าง (ตามพจนานุกรมฯ) คือ –

(1) เทวดาผู้เป็นใหญ่, หัวหน้าเทวดา 

(2) พระมหากษัตริย์, เจ้านาย

(๒) “นฤมิตร” 

คำนี้พจนานุกรมฯ สะกด “นฤมิต” (ไม่มี –) อ่านว่า นะ-รึ-มิด บาลีเป็น “นิมฺมิต” อ่านว่า นิม-มิ-ตะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + มา (ธาตุ = วัด, กะ, ประมาณ) + ปัจจัย, ซ้อน มฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + มฺ + มา), แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ

: นิ + มฺ + มา = นิมฺมา + = นิมฺมาต > นิมฺมิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาวัดเอาไว้” หมายถึง วัดเอาไว้, กะแผน, วางแผน; เนรมิต [โดยอิทธิฤทธิ์]; สร้างสรรค์, ดลบันดาล (measured out, planned, laid out; created [by supernatural power, iddhi]; measured, stately)

นิมฺมิต” เป็นรูปกิริยากิตก์ รูปกิริยาอาขยาตสามัญ (กัตตุวาจก ปัจจุบันกาล ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “นิมฺมินาติ” (นิม-มิ-นา-ติ) 

เพื่อให้เห็นความหมายของ “นิมฺมิต” ชัดขึ้น ขอให้ดูความหมายของ “นิมฺมินาติ” ที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ดังนี้ 

นิมฺมินาติ : to measure out, fashion, build, construct, form; make by miracle, create, compose; produce, lay out, plan (วัดไว้, บันดาล, สร้าง, ประกอบขึ้น, เนรมิต; สร้างด้วยฤทธิ์, วางรูป, ประดิษฐ์; ผลิต, วางแผน) 

บาลี “นิมฺมิต” สันสกฤตเป็น “นิรฺมิต” ในที่นี้เราใช้เป็น “นฤมิต” (นะ-รึ-มิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นฤมิต : (คำกริยา) สร้าง, แปลง, ทํา. (ส. นิรฺมิต; ป. นิมฺมิต).”

ประสมรูปคำตามบาลี :

เทวิสฺสร + นิมฺมิต = เทวิสฺสรนิมฺมิต (เท-วิด-สะ-ระ-นิม-มิ-ตะ) 

ในภาษาไทย ประสมรูปคำตามพจนานุกรมฯ :

เทเวศ + นฤมิต = เทเวศนฤมิต 

เทเวศร์ + “นฤมิต = เทเวศรนฤมิต 

เทเวศวร์ + นฤมิต = เทเวศวรนฤมิต 

ทุกคำอ่านตามประสงค์ว่า เท-เวด-นะ-รึ-มิด

โปรดสังเกตว่า คำที่ยกมาเป็นบาลีวันละคำสะกดว่า “เทเวศรนฤมิตร” ไม่ตรงกับคำไหนเลย 

ที่ใกล้ที่สุดคือ “เทเวศรนฤมิต” ผิดกันนิดเดียวที่ “นฤมิตร” (มี –) กับ “นฤมิต” (ไม่มี –)

แล้วจะว่าอย่างไรกัน?

หลักวินิจฉัยก็คือ คำว่า “เทเวศรนฤมิตร” ที่ยกมานั้น เป็นชื่อเฉพาะ ที่ศัพท์วิชาการเรียกว่า “วิสามานยนาม” (proper name) เขียนตามอักขรวิธีในสมัยนั้น หรือเขียนเช่นนั้นตามความประสงค์ของผู้ตั้งชื่อ สะกดอย่างไรก็ต้องคงไว้ตามนั้น ไม่ถือว่าผิด

ขยายความ :

เทเวศรนฤมิตร” เป็นชื่อสะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตามชื่อคงมีความประสงค์จะให้มีความหมายว่า สะพานที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายสร้างไว้

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 3 มีนาคม 2565 เวลา 20:30) มีคำว่า “สะพานเทเวศรนฤมิตร” บรรยายความตอนหนึ่ง ดังนี้ (วรรคตอนและสะกดตามต้นฉบับ)

…………..

สะพานเทเวศรนฤมิตร เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งอยู่บนถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร เป็นสะพานที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์สร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมทั้งหมดห้าสะพาน และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้มีชื่อคล้องจองกันทั้งหมด โดยทรงปรึกษากับพระราชเลขานุการที่เชี่ยวชาญภาษามคธ ได้นามเป็นมงคลคล้องจองกันและมีความหมายโดยรวมว่า “สะพานที่เทวดานฤมิตร” คือ สะพานเทเศวรนฤมิตร, สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ, สะพานมัฆวานรังสรรค์, สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ โดยในส่วนของสะพานเทเวศรนฤมิตร นั้นมีความหมายถึง “สะพานที่เทวดาผู้เป็นใหญ่สร้าง” หรือ “สะพานที่พระอิศวรเป็นผู้สร้าง” เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2442 เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมแห่งแรกที่ทรงเปิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นใหญ่เหนือตนได้

: ก็เป็นใหญ่เหนือคนได้

#บาลีวันละคำ (3,551)

3-3-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *