-ประเทศ (บาลีวันละคำ 4,282)
-ประเทศ
คำที่หลอกคนไม่รู้บาลี
มีคำบาลี 2 คำ (อาจมีมากกว่านี้) ที่ออกเสียงแบบไทยว่า -ปฺระ-เทด และคนฟังมักเข้าใจไปว่าคือ “ประเทศ” หรือแดนดินถิ่นฐาน ที่คำฝรั่งเรียกว่า country
คือคำว่า “ปฏิรูปเทส” และ “มหาปเทส”
“ปฏิรูปเทส” เวลาออกเสียง เรามักแบ่งน้ำหนักของคำเป็น ปฏิรู + ปเทส เขียนแบบไทยเป็น “ปฏิรูประเทศ” (ปฏิรู + ประเทศ)
“มหาปเทส” คำนี้มีคำไทยเทียบ คือ ประเทศมหาอำนาจ เรียกว่า “มหาประเทศ” เราก็เลยแบ่งคำออกเป็น มหา + ประเทศ
ในภาษาบาลี “ปฏิรูปเทส” แยกศัพท์เป็น ปฏิรูป + เทส
ไม่มีคำว่า “ปเทส” ที่เอามาเขียนเป็นไทยว่า “ประเทศ”
“มหาปเทส” แยกศัพท์เป็น มหา + อปเทส
ไม่มีคำว่า “ปเทส” ที่เอามาเขียนเป็นไทยว่า “ประเทศ” อีกเช่นกัน
(๑) คำว่า “ปฏิรูปเทส” แยกศัพท์เป็น ปฏิรูป + เทส จะเห็นได้ว่าคำหน้าคือ “ปฏิรูป” ไม่ใช่ “ปฏิรู”
คำบาลี “ปฏิรูปเทส” ป ปลา ตัวเดียว ไม่ใช่ “ปฏิรูปปเทส” (ป ปลา 2 ตัว) เมื่อแยก “ปฏิรูป” ออกไปแล้ว คำที่เหลือคือ “เทส” ไม่ใช่ “ปเทส”
“เทส” ในบาลีหมายถึง สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (place, region, spot, country)
“ปเทส” ในบาลีหมายถึง ที่ตั้ง, ขอบเขต, แถบ; แดน, สถานที่ (location, range, district; region, spot, place)
จะเห็นได้ว่า “เทส” กับ “ปเทส” ความหมายคล้ายกัน จะว่าเหมือนกันก็ได้ ในที่ทั่วไปใช้แทนกันได้
แต่ในคำวา “ปฏิรูปเทส” ท่านใช้คำว่า “เทส” ไม่ใช่ “ปเทส”
เพราะฉะนั้น เวลาเห็นคำนี้ ต้องให้น้ำหนักของคำให้ถูกที่ คือ ปฏิรูป + เทส ไม่ใช่ ปฏิรู + ปเทส หรือแม้แต่ ปฏิรูป + ปเทส
ในภาษาไทย เราให้ความหมายของ “ปฏิรูป” ว่า “ปรับปรุงให้สมควร” แต่ในภาษาบาลี “ปฏิรูป” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) พอเหมาะ, สมควร, เหมาะสม, เหมาะเจาะ, เป็นไปได้ (fit, proper, suitable, befitting, seeming)
(2) เทียม, ปลอม, ไม่แท้, คล้าย, เหมือน (like, resembling, disguised as, in the appearance of, having the form) เช่น “มิตรปฏิรูป” คือคนที่เหมือนกับจะเป็นเพื่อน แต่ไม่ใช่เพื่อน ซึ่งก็เท่ากับศัตรูที่แฝงมาในคราบของเพื่อน
คำว่า “ปฏิรูปเทส” ในมงคล ๓๘ ประการ ใช้คำเต็มว่า “ปฏิรูปเทสวาส” (ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ-วา-สะ) แปลว่า “การอยู่ในถิ่นอันเหมาะสม” คืออยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี (living in a suitable region; good environment)
หมายความว่า ถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดีนั้นมีอยู่แล้ว ท่านแนะนำให้ไปอยู่ในถิ่นเช่นนั้น
ไม่ได้หมายความว่า ไปอยู่ที่ไหนก็ให้ปรับปรุงที่นั่นให้เป็นบ้านเมืองที่เหมาะสม เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของผู้บริหารบ้านเมืองที่จะต้องทำ เราจะเข้าไปช่วยด้วยก็ได้ แต่ขอบเขตของมงคลข้อนี้ท่านไม่ได้มุ่งสอนไปถึงขั้นนั้น
(๒) คำว่า “มหาปเทส” แยกศัพท์เป็น มหา + อปเทส ไม่มีคำว่า “ปเทส” (ประเทศ) ที่หมายถึงแดนดินถิ่นฐาน อยู่ในคำนี้
“อปเทส” กับ “ปเทส” เป็นคนละคำกัน
“อปเทส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เหตุผล, ต้นเหตุ, คารม, ข้อโต้แย้ง (reason, cause, argument)
(2) คำแถลง, การระบุหรือแต่งตั้ง (statement, designation)
(3) ข้ออ้าง (pretext)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “มหาปเทส” ไว้ดังนี้ –
…………..
มหาปเทส : “ข้อสำหรับอ้างใหญ่” (ในทางพระวินัย) หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔ คือ
๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร
๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร
๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร
๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร
…………..
สรุปความก็คือ ในพระวินัยมีเรื่องที่เป็นหลักใหญ่ 2 เรื่อง คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามทำ และเรื่องที่ทรงอนุญาตให้ทำได้ ใช้คำสั้นๆ ว่า ข้อห้ามกับข้ออนุญาต
เป็นการยากที่จะระบุไว้ให้ครบถ้วนว่าข้อห้ามมีอะไรบ้างและข้ออนุญาตมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่มีในสมัยนั้น แต่มามีขึ้นในสมัยนี้ จึงต้องมีหลักสำหรับเทียบเคียง เรียกว่า “มหาปเทส” เช่น –
เบญจศีลข้อ 5 งดเว้นจากการเสพของเมา ระบุไว้แต่เพียง “สุราและเมรัย” ซึ่งเป็นของสามัญในสมัยโน้น เฮโรอีน ยาบ้า ยาเสพติดชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ย่อมจัดเข้าในของเมาด้วยเช่นกัน
สมัยก่อนมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้ประทีปเทียนไต้เป็นอุปกรณ์จุดให้แสงสว่าง เมื่อเทียบเคียงกันแล้วไฟฟ้าแสงสว่างที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็จัดเข้าในอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่ภิกษุสามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน
กรณีอื่น ๆ ก็พึงเทียบเคียงโดยนัยเดียวกันนี้
นี่คือความหมายของ “มหาปเทส” (great authorities) ซึ่งเสียงของคำชวนให้จินตนาการไปว่าเป็นคำเดียวกับ “มหาประเทศ” (great country)
“อปเทส” (authorities) กับ “ปเทส” (country) เป็นคนละคำกัน
…………..
จับหลักไว้ว่า –
“ปฏิรูปเทส” คือ ปฏิรูป + เทส ไม่ใช่ ปฏิรู + ประเทศ หรือ ปฏิรูป + ประเทศ
“มหาปเทส” คือ มหา + อปเทส ไม่ใช้ มหา + ประเทศ
จับหลักไม่ดี คำบาลีก็หลอกให้หลงทาง
จับหลักให้ดี คำบาลีก็พาเราไปตรงทาง
ฉันใด
เรียนบาลีก็ฉันนั้น
ตั้งเป้าหมายไว้ไม่ถูก บาลีพาไปได้แค่ศักดิ์และสิทธิ์
ตั้งเป้าหมายไว้ไม่ผิด บาลีพาไปได้ถึงพระไตรปิฎก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่อยากถูกภาษาบาลีหลอก
: ขอบอกให้เรียนบาลี
#บาลีวันละคำ (4,282)
3-3-67
…………………………….
…………………………….