บุพพัณชาติ – อปรัณชาติ (บาลีวันละคำ 4,283)
บุพพัณชาติ – อปรัณชาติ
กินทุกวันไม่เคยขาด แต่ไม่รู้คำบาลี
“บุพพัณชาติ” อ่านว่า บุบ-พัน-นะ-ชาด
“อปรัณชาติ” อ่านว่า อะ-ปะ-รัน-นะ-ชาด
มีคำบาลี 4 คำ คือ “บุพพ” “อปร” “อัณ” “ชาติ”
(๑) “บุพพ”
บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม”
“ปุพฺพฺ” ในบาลีที่ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
(2) ตะวันออก (“ทิศเบื้องหน้า”) (the East)
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.”
ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี
เฉพาะที่ใช้เป็น “บุพ-” และ “บุพพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).”
(๒) “อปร”
บาลีอ่านว่า อะ-ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก น + ปร
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “ปร” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ
(ข) “ปร” อ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ว่า “เบียดเบียน”) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ มฺ ที่สุดธาตุ
: ป + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ความหมายเดิมคือ “ปรปักษ์” ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่อีกข้างหนึ่ง หรืออยู่คนละข้างกัน ซึ่งตามปกติย่อมพอใจที่จะเบียดเบียนคือทำร้ายกัน
จากความหมายเดิมนี้ “ปร” จึงหมายถึง อีกข้างหนึ่ง, โพ้น; เหนือ, อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (on the further side of, beyond; over, another, other)
น + ปร = นปร > อปร แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ใช่ฝ่ายอื่น” หมายความว่า ฝ่ายอื่นก็ไม่ใช่ ฝ่ายตัวเองก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็น “อีกฝ่ายหนึ่งนอกไปจากฝ่ายอื่น” หมายถึง อีกอันหนึ่ง, คือ เพิ่ม, ต่อไป, ถัดไป, ที่สอง (another, i. e. additional, following, next, second)
(๓) “อัณ”
บาลีเป็น “อณฺณ” อ่านว่า อัน-นะ รากศัพท์มาจาก อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ต เป็น นฺน, แปลง นฺน เป็น ณฺณ, ลบ ท
: อทฺ + ต = อทฺต > อทนฺน > อทณฺณ > อณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” หมายถึง การกิน, ของกิน, ข้าวสุก, อาหาร
ศัพท์นี้ คง นฺน ไว้ ไม่แปลงเป็น ณฺณ ได้รูปเป็น “อนฺน” ก็มี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนฺน” ว่า “eating”, food, esp. boiled rice, but includes all that is eaten as food, viz. odana, kummāsa, sattu, maccha, maŋsa [rice, gruel, flour, fish, meat] (“การรับประทาน”, อาหาร, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวสุก, แต่รวมถึงของทุกชนิดซึ่งเป็นอาหาร, กล่าวคือ โอทน, กุมฺมาส, สตฺตุ, มจฺฉ มํส [ข้าวสุก, ข้าวต้ม, แป้ง, ปลา, เนื้อ])
“อณฺณ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออก ใช้เป็น “อัณ” และมักสมาสกับคำอื่น เช่น บุพพัณ– อปรัณ–
(๔) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง “น” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –
(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,
(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.
(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.
(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.
(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.
(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (8 ) ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “ศัพท์ สกรรถ” (สับ-สะ-กัด) หมายถึงคำที่นำมาต่อท้ายคำอื่น แต่คำนั้นคงมีความหมายเท่าเดิม (“สกรรถ” : สก = ของตน + อรรถ = ความหมาย)
ในภาษาไทย คำที่ลงท้ายด้วย “-ชาติ” ที่เราคุ้นกันดีก็อย่างเช่น – ธรรมชาติ รสชาติ มนุษยชาติ และ ธัญชาติ
การประสมคำ :
๑ ปุพฺพ + อณฺณ = ปุพฺพณฺณ แปลว่า “อาหารที่จะพึงกินก่อน”
๒ อปร + อณฺณ = อปรณฺณ แปลว่า “อาหารที่จะพึงกินทีหลัง”
๓ ปุพฺพณฺณ + ชาติ = ปุพฺพณฺณชาติ แปลเท่าเดิม
๔ อปรณฺณ + ชาติ = อปรณฺณชาติ แปลเท่าเดิม
ขยายความ :
“ปุพฺพณฺณชาติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุพพัณชาติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“บุพพัณชาติ : (คำนาม) พืชที่จะพึงกินก่อน ได้แก่ข้าวทุกชนิด. (ป. ปุพฺพณฺณชาติ; ส. ปูรฺว + อนฺน + ชาติ).”
ดูตามคำอธิบาย “บุพพัณชาติ” หมายถึงธัญชาติทั้ง 7 ชนิด
ตามวัฒนธรรมของการกินทั่วไป กินของคาวก่อนแล้วจึงกินของหวาน ข้าวหรือธัญชาติต่าง ๆ อยู่ในจำพวกของคาว เป็นของที่กินก่อน จึงเรียกว่า “บุพพัณชาติ”
“อปรณฺณชาติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อปรัณชาติ”
“อปรัณชาติ : (คำนาม) “อาหารอื่น” คือ ถั่ว งา และผักต่าง ๆ (นอกจากข้าว). (ป. อปรณฺณชาติ; ส. อปร + อนฺน + ชาติ).”
แถม :
ในภาษาไทยมีคำบาลีที่เกี่ยวกับ “ข้าว” อยู่ในชุด “บุพพัณชาติ” “อปรัณชาติ” อีก 2 คำ คือ “ธัญชาติ” และ “ธัญพืช”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
(1) ธัญชาติ : (คำนาม) คำรวมเรียกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาลี.
(2) ธัญพืช : (คำนาม) พืชล้มลุกหลายชนิดหลายสกุล มักหมายถึงพืชในวงศ์ Gramineae เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ให้เมล็ดเป็นอาหารหลัก. (ป. ธญฺญพีช; ส. ธานฺยวีช).
คำว่า “ธัญชาติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้น ๆ ดังที่ยกมา แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกรายละเอียดไว้ด้วย (พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 ตัดออก) ขอยกมาเสนอเป็นความรู้ดังนี้ –
“ธัญชาติ : (คำนาม) คำรวมเรียกข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาลี, ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาว่ามี ๗ อย่าง คือ ๑. ข้าวไม่มีแกลบ ๒. ข้าวเปลือก ๓. หญ้ากับแก้ ๔. ข้าวละมาน ๕. ลูกเดือย ๖. ข้าวแดง ๗. ข้าวฟ่าง.”
“ธัญชาติ” กับ “ธัญพืช” มีนัยต่างกันอย่างไร หรือถามว่า กรณีอย่างไรเรียกว่า “ธัญชาติ” กรณีอย่างไรเรียกว่า “ธัญพืช”
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นดังนี้ :
– กรณีหมายถึงผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาพร้อมปรุงเป็นอาหาร เรียกว่า “ธัญชาติ”
– กรณีหมายถึงต้นพืชที่อยู่ในแปลงเพาะปลูก เรียกว่า “ธัญพืช”
นี่เป็นความเห็นส่วนตัว ญาติมิตรทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
เวลาใช้คำ 2 คำนี้ ควรมีหลัก ไม่ควรพูดปนเปกันแบบ “มั่ว” ไปหมด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เสียเวลากับเรื่องกินน้อยลงเพียงใด
: มีเวลาทำความดีมากขึ้นเพียงนั้น
#บาลีวันละคำ (4,283)
4-3-67
…………………………….
…………………………….