บาลีวันละคำ

มหาผล (บาลีวันละคำ 4,281)

มหาผล

มีหลายคนที่ยังไม่รู้

อ่านว่า มะ-หา-ผน

ประกอบด้วยคำว่า มหา + ผล

(๑) “มหา” 

อ่านว่า มะ-หา ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหา ๑ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส บางทีก็ลดรูปเป็น มห เช่น มหรรณพ มหัทธนะ มหัศจรรย์.”

คำว่า “มหา” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” อ่านว่า มะ-หัน-ตะ รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –ผล เปลี่ยนรูปเป็น “มหา” 

(๒) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + (อะ) ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร” 

ผล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ในภาษาไทย ถ้าใช้เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายคำ อ่านว่า ผน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ผล : (คำนาม) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง; สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว; ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล; ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค; ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล; จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า. (ป., ส.).”

มหนฺต + ผล = มหนฺตผล > มหาผล แปลว่า “ผลไม้ที่มีขนาดใหญ่” หมายถึง ผลไม้ที่ไม่เหมาะที่พระภิกษุสามเณรจะฉันในเวลาวิกาล

ขยายความ :

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก กล่าวถึงผลไม้ที่เรียกว่า “มหาผล” ไว้ดังนี้ –

…………..

ฐเปตฺวา  ธญฺญผลรสนฺติ  สตฺต  ธญฺญานิ  ปจฺฉาภตฺตํ  น  กปฺปนฺตีติ  ปฏิกฺขิตฺตานิ  ฯ  

ด้วยพระบาลีว่า ฐเปตฺวา  ธญฺญผลรสํ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำเมล็ดธัญชาติ) ธัญชาติ 7 ชนิดเป็นอันห้ามแล้วว่าไม่ควรในปัจฉาภัต (คือหลังเที่ยงวัน)

ตาล นาฬิเกร ปนส ลพุช อลาวุ กุมฺภณฺฑ ปุสผล ติปุส เอลาลุกาติ  นว  มหาผลานิ  

มหาผล 9 ชนิด คือ ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม ฟักทอง (เป็นอันทรงห้ามด้วย)

สพฺพญฺจ  อปรณฺณํ  ธญฺญคติกเมว  ฯ

และอปรัณชาติทุกชนิดก็มีคติอย่างธัญชาติเหมือนกัน

ตํ  กิญฺจาปิ  น  ปฏิกฺขิตฺตํ  อถโข  อกปฺปิยํ  อนุโลเมติ  

มหาผลและอปรัณชาตินั้นไม่ได้ทรงห้ามไว้ (ตรง ๆ) ก็จริง ถึงกระนั้นย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ

ตสฺมา  ปจฺฉาภตฺตํ  น  กปฺปตีติ  ฯ

เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรในปัจฉาภัต

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 204-205

…………..

ประมวลความว่า พืชผลที่เอามาปรุงเป็นเครื่องดื่ม พระภิกษุสามเณรฉันหลังเที่ยงวันได้ คือที่เรารู้จักกันว่า “อัฐบาน” (อัด-ถะ-บาน) แปลว่า “เครื่องดื่ม 8 ชนิด” มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “น้ำปานะ” คือ –

(1) อมฺพปานํ น้ำมะม่วง 

(2) ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า 

(3) โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด 

(4) โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด 

(5) มธุกปานํ น้ำมะซาง 

(6) มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันหรือองุ่น

(7) สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล 

(8) ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ 

ในพระวินัยกำหนดไว้อีกว่า ธัญชาติ 7 ชนิด (สตฺต  ธญฺญานิ) เป็นของต้องห้าม ฉันหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้

ธัญชาติ 7 ชนิด คือ –

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺุคุ = ข้าวฟ่าง 

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้ 

อรรถกถายกความข้อนี้ขึ้นมาขยายความว่า ผลไม้ประเภท “มหาผล” 9 ชนิด (นว  มหาผลานิ) ก็เป็นของต้องห้ามด้วย

มหาผล 9 ชนิด คือ –

(1) ตาล = ผลตาล

(2) นาฬิเกร = มะพร้าว

(3) ปนส = ขนุน

(4) ลพุช = สาเก

(5) อลาวุ = น้ำเต้า

(6) กุมฺภณฺฑ = ฟักเขียว 

(7) ปุสผล = แตงไทย

(8) ติปุส = แตงโม

(9) เอลาลุก = ฟักทอง

พืชผลที่ต้องห้ามอีกประเภทหนึ่งคือ “อปรณฺณ” (อะ-ปะ-รัน-นะ) คือ ถั่ว งา และผักต่าง ๆ (นอกจากข้าว) ฉันหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้

เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ควรศึกษาให้กระจ่างชัด โดยเฉพาะคำบาลีที่เป็นชื่อของพืชผลต่าง ๆ ศัพท์ไหนหมายถึงผลอะไรหรือพืชอะไร ควรพิจารณาโดยถี่ถ้วน 

ถ้าช่วยกันศึกษาค้นคว้าหลาย ๆ คน ก็จะเป็นผลดี นี่คืองานของนักเรียนบาลีโดยตรง

น่าเสียดายระคนน่าแปลกใจ

งานที่ควรทำมีอยู่มาก

คนที่มีความรู้สามารถทำได้ดีก็มีอยู่มาก

แต่คนที่ลงมือทำงาน หาได้ยาก

…………..

เพื่อเป็นความรู้กว้างขวางขึ้น ขอยกข้อความบางตอนที่คำว่า “ปานะ” จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอเพิ่มเติม ผู้สนใจพึงศึกษาข้อความเต็ม ๆ ต่อไปเถิด (ในที่นี้ปรับแต่งย่อหน้าเพื่อให้อ่านง่าย)

…………..

… จะเห็นว่า มะซางเป็นพืชที่มีข้อจำกัดมากสักหน่อย น้ำดอกมะซางนั้นต้องห้ามเลยทีเดียว ส่วนน้ำผลมะซาง จะฉันล้วน ๆ ไม่ได้ ต้องผสมน้ำ จึงจะควร ทั้งนี้เพราะกลายเป็นของเมาได้ง่าย 

วิธีทำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ถ้าผลยังดิบ ก็ผ่าฝานหั่นใส่ในน้ำ ให้สุกด้วยแดด ถ้าสุกแล้วก็ปอกหรือคว้าน เอาผ้าห่อ บิดให้ตึงอัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า เติมน้ำลงให้พอดี (จะไม่เติมน้ำก็ได้ เว้นแต่ผลมะซางซึ่งท่านระบุว่าต้องเจือน้ำจึงควร) แล้วผสมน้ำตาลและเกลือเป็นต้นลงไปพอให้ได้รสดี 

ข้อจำกัดที่พึงทราบคือ 

๑. ปานะนี้ให้ใช้ของสด ห้ามมิให้ต้มด้วยไฟ ให้เป็นของเย็นหรือสุกด้วยแดด (ข้อนี้พระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า ในบาลีไม่ได้ห้ามน้ำสุก แม้สุกก็ไม่น่ารังเกียจ) 

๒. ต้องเป็นของที่อนุปสัมบันทำ จึงควรฉันในเวลาวิกาล (ถ้าภิกษุทำ ถือเป็นเหมือนยาวกาลิก เพราะรับประเคนมาทั้งผล) 

๓. ของประกอบเช่นน้ำตาลและเกลือ ไม่ให้เอาของที่รับประเคนค้างคืนไว้มาใช้ (แสดงว่ามุ่งให้เป็นปานะที่อนุปสัมบันทำถวายด้วยของของเขาเอง) …

…………..

: ผู้หาวิธีที่จะปฏิบัติตาม ก็ต้องศึกษา

: ผู้หาช่องทางที่จะละเมิด ก็ต้องศึกษา

แต่เจตนาย่อมจะต่างกัน

ดูก่อนภราดา!

ท่านมีเจตนาแบบไหน?

#บาลีวันละคำ (4,281)

2-3-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *