บาลีวันละคำ

มหาลดาประสาธน์ (บาลีวันละคำ 4,285)

มหาลดาประสาธน์

เครื่องประดับบันลือโลก

อ่านว่า มะ-หา-ละ-ดา-ปฺระ-สาด

ประกอบด้วยคำว่า มหา + ลดา + ประสาธน์ 

(๑) “มหา” 

อ่านว่า มะ-หา ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหา ๑ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส บางทีก็ลดรูปเป็น มห เช่น มหรรณพ มหัทธนะ มหัศจรรย์.”

คำว่า “มหา” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” อ่านว่า มะ-หัน-ตะ รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –ลดาประสาธน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา” 

(๒) “ลดา

บาลีเป็น “ลตา” (ภาษาไทย เด็ก บาลี เต่า) อ่านว่า ละ-ตา รากศัพท์มาจาก ลา (ธาตุ = ถือเอา) + ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ลา เป็น อะ (ลา > ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ลา + = ลาต > ลต + อา = ลตา แปลตามศัพท์ว่า “ไม้เถาที่ยึดเกาะโดยทางยาว” หมายถึง ลดาวัลย์, เครือเถา

ลตา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ต้นไม้เลื้อย, ลดาวัลย์, เครือเถา (a slender tree, a creeping plant, creeper)

(2) (ความหมายในเชิงอุปมา) คำแสดงลักษณะของตัณหา [ความโลภ] เท่าที่มันรัดคอเหยื่อ (an epithet of taṇhā [greed], as much as it strangles its victim)

(3) (ความหมายในเชิงอุปมา) สายฟ้า, แสงปลาบ (streak, flash) 

บาลี “ลตา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ลดา” (บาลี เต่า ภาษาไทย เด็ก) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ลดา : (คำนาม) เครือเถา, เครือวัลย์; สาย. (ป., ส. ลตา).”

(๓) “ประสาธน์

เขียนแบบบาลีเป็น “ปสาธน” อ่านว่า ปะ-สา-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: + สาธฺ = ปสาธฺ + ยุ > อน = ปสาธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทำสำเร็จ” หมายถึง เครื่องประดับ, เครื่องตกแต่ง, การตบแต่ง (ornament, decoration, parure)

บาลี “ปสาธน” สันสกฤตเป็น “ปฺรสาธน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรสาธน : (คำนาม) ‘ประสาธน์,’ เวศ, พัสตร์; อาภรณ์, ภูษณ์; การทำลุล่วง; หวี; เภษัชอันเรียกว่า สิทธิ; dress, decoration, embellishment; accomplishing, or effecting; a comb; a drug called Siddhi.

ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประสาธน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประสาธน์ : (คำแบบ) (คำกริยา) ทําให้สําเร็จ. (คำนาม) เครื่องประดับ. (ส. ปฺรสาธน; ป. ปสาธน).”

การประสมคำ :

ลตา + ปสาธน = ลตาปสาธน (ละ-ตา-ปะ-สา-ทะ-นะ) แปลว่า “เครื่องประดับมีลักษณะเป็นเครือเถา

มหนฺต + ลตาปสาธน = มหนฺตลตาปสาธน > มหาลตาปสาธน (มะ-หา-ละ-ตา-ปะ-สา-ทะ-นะ) แปลว่า “เครื่องประดับมีลักษณะเป็นเครือเถาขนาดใหญ่” หมายถึง เครื่องประดับมีลักษณะเป็นเครือเถาที่มีความงดงามยิ่งใหญ่

มหาลตาปสาธน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหาลดาประสาธน์” บางแห่งอาจสะกดเป็น “มหาลดาปสาธน์” ตามบาลี

คำว่า “มหาลดาประสาธน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ประสาธน์” ไว้ แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ปสาธน์

ขยายความ :

มหาลดาประสาธน์” เป็นชื่อเครื่องประดับแบบหนึ่งของสตรีชาวชมพูทวีป ที่รู้จักกันดีคือเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ของนางวิสาขา

นางวิสาขาคือใคร เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์อย่างไร ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วิสาขา” มาเสนอดังนี้ –

…………..

วิสาขา : ชื่อมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกต ในแคว้นโกศล แล้วได้สมรสกับนายปุณณวัฒน์ บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาของสามี ซึ่งนับถือนิครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมากและเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมาตา (มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ขายเครื่องประดับ เรียกชื่อว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง อันประจำตัวมาตั้งแต่แต่งงาน นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ วัดบุพพาราม มิคารมาตุปราสาท ณ พระนครสาวัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้ว่านางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาทายิกาทั้งปวง.

…………..

เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ของนางวิสาขามีรายละเอียดบรรยายไว้ในคัมภีร์ ดังนี้ –

…………..

ตสฺมึ  ปิลนฺธเน  จตสฺโส  วชิรนาฬิโย  อุปโยคํ  อคมํสุ  

เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ใช้เพชร 4 ทะนาน

มุตฺตานํ  เอกาทส  นาฬิโย  

แก้วมุกดา 11 ทะนาน 

ปวาฬสฺส  พาวีสติ  นาฬิโย  

แก้วประพาฬ 20 ทะนาน 

มณีนํ  เตตฺตึส  นาฬิโย.  

แก้วมณี 33 ทะนาน

อิติ  เอเตหิ  จ  อญฺเญหิ  จ  รตเนหิ  นิฏฺฐานํ  อคมาสิ.

เครื่องประดับนั้นสำเร็จด้วยรัตนะเหล่านี้และรัตนะอื่นอีก ด้วยประการฉะนี้

อสุตฺตมยํ  ปสาธนํ  รชเตน  สุตฺตกิจฺจํ  กรึสุ  

เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ไม่ใช้ด้ายเลย ใช้เงินแทนด้ายทั้งหมด

ตํ  สีเส  ปฏิมุกฺกํ  ปาทปฺปิฏฺฐึ  คจฺฉติ.

เครื่องประดับนั้นสวมศีรษะแล้วย้อยลงมาถึงหลังเท้า

ตสฺมึ  ตสฺมึ  ฐาเน  มุทฺทิกา  โยเชตฺวา  กตา  สุวณฺณมยา 

ลูกดุมที่ประกอบเป็นแหวนตรงส่วนต่าง ๆ ทำด้วยทอง 

คณฺฐิกา  โหนฺติ  รชตมยา  ปาสกา  

ห่วงทำด้วยเงิน 

มตฺถกมชฺเฌ  เอกา  มุทฺทิกา  

มีแหวนวงหนึ่งที่กลางกระหม่อม 

ทฺวีสุ  กณฺณปฺปิฏฺฐีสุ  เทฺว  

หลังหู 2 ข้าง ข้างละวง 

คลวาฏเก  เอกา  

ที่หลุมคอวงหนึ่ง 

ทฺวีสุ  ชนฺนุเกสุ  เทฺว  

เข่า 2 ข้าง ข้างละวง 

ทฺวีสุ  กปฺปเรสุ  เทฺว  

ข้อศอก 2 ข้าง ข้างละวง 

ทฺวีสุ  กฏิปฺปเทเสสุ  เทฺวติ.

สะเอว 2 ข้าง ข้างละวง

ตสฺมึ  โข  ปน  ปสาธเน  เอกํ  โมรํ  กรึสุ.  

เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นั้นเขาทำนกยูงไว้ตัวหนึ่ง 

ตสฺส  ทกฺขิณปสฺเส  สุวณฺณมยานิ  ปญฺจ  ปตฺตสตานิ  อเหสุํ 

ปีกขวา ขนปีก 500 ขนทำด้วยทอง 

วามปสฺเส  ปญฺจ  ปตฺตสตานิ  

ปีกซ้าย 500 ขนก็ทำด้วยทอง

ตุณฺฑํ  ปวาฬมยํ  

จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ 

อกฺขีนิ  มณิมยานิ  

นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี 

ตถา  คีวา  จ  ปิญฺฉานิ  จ  

คอและแววหางก็ทำด้วยแก้วมณี

ปตฺตนาฬิโย  รชตมยา

ก้านขนทำด้วยเงิน 

ตถา  ชงฺฆา

ขาก็ทำด้วยเงิน 

โส  วิสาขาย  มตฺถกมชฺเฌ  ปพฺพตกูเฏ  ฐตฺวา  นจฺจนมยูโร  วิย  ขายติ.

นกยูงนั้นสถิตอยู่กลางกระหม่อมนางวิสาขาปรากฏประหนึ่งนกยูงยืนรำแพนบนยอดบรรพต 

ปตฺตนาฬิสหสฺสสฺส  สทฺโท  ทิพฺพสงฺคีตํ  วิย  ปญฺจงฺคิกตุริยโฆโส  วิย  จ  ปวตฺตติ.

เสียงก้านขนปีกทั้งพันกระทบกันประหนึ่งทิพยสังคีตและเสียงขับประโคมแห่งเบญจางคดุริยางค์

สนฺติกํ  อุปคตาเยว  ตสฺส  อโมรภาวํ  ชานนฺติ.

คนที่เข้าไปดูใกล้ ๆ เท่านั้นจึงจะรู้ว่านกยูงนั้นไม่ใช่นกยูงจริง (มองห่าง ๆ จะเห็นเหมือนนกยูงเป็น ๆ)

ปสาธนํ  นวโกฏิอคฺฆนกํ  อโหสิ.

เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์มีราคา 9 โกฏิ 

สตสหสฺสํ  หตฺถกมฺมมูลํ  ทียิตฺถ.

ค่ากำเหน็จแสนหนึ่ง

กิสฺส  ปน  นิสฺสนฺเทน  ตาเยตํ  ปสาธนํ  ลทฺธนฺติ.

เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นั้น นางวิสาขาได้แล้วด้วยผลแห่งกรรมอะไร?

สา  กิร  กสฺสปสมฺมาสมฺพุทฺธกาเล  วีสติยา  ภิกฺขุสหสฺสานํ  จีวรสาฏกํ  ทตฺวา  

ได้ยินว่าในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นางถวายจีวรสาฎกแก่ภิกษุสองหมื่นรูป

สุตฺตมฺปิ  สูจิโยปิ  รชนมฺปิ  อตฺตโน  สนฺตกเมว  อทาสิ.  

ทั้งได้ถวายด้าย เข็ม เครื่องย้อม สำหรับใช้ประกอบกับจีวรนั้นด้วย

ตสฺส  จีวรทานสฺส  นิสฺสนฺเทน  อิมํ  ปสาธนํ  ลภิ.

ด้วยผลแห่งจีวรทานนั้น นางจึงได้เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นี้

อิตฺถีนํ  หิ  จีวรทานํ  มหาลตาปสาธเนน  มตฺถกํ  ปปฺโปติ  

ท่านย่อมว่า ผลสูงสุดของจีวรทานสำหรับหญิงทั้งหลาย คือได้เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ 

ปุริสานํ  อิทฺธิมยปตฺตจีวเรนาติ.

ผลสูงสุดของจีวรทานสำหรับบุรุษทั้งหลาย คือได้บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ (ในเวลาที่อุปสมบท) ดังนี้แล

ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 3 (วิสาขาวตฺถุ) หน้า 54-55

…………..

แถม :

ในสมัยพุทธกาล สตรีที่มีเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์มี 3 คน เท่านั้น ตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา คือ –

(1) นางวิสาขา

(2) นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุลเสนาบดี (ไม่ใช่พระนางมัลลิกามเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดังที่วิกิพีเดียระบุไว้)

(3) ธิดาเศรษฐีเมืองพาราณสี* 

*สตรีคนที่ 3 นี้ คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 334 (อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร) ระบุว่า “เทวทานิยโจรสฺส  เคเห” แปลว่า “(สตรี) ในบ้านของเทวทานิยโจร” ถ้าจะอธิบายไม่ให้ขัดแย้งกันก็คือ-สันนิษฐานว่า เศรษฐีเมืองพาราณสีคนนี้ชื่อ เทวทานิยโจร (คำว่า “โจร” ท้ายชื่อ ไม่ได้หมายถึงโจรผู้ร้าย แต่เป็นคำที่เอามาตั้งเป็นชื่อด้วยเหตุผลบางประการ เทียบคำว่า “เสือ” ในภาษาไทย เอาไปตั้งเป็นชื่อคน ไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นเป็นผู้ร้ายเสือปล้น แต่อาจเป็นเพราะมีลักษณะดุดันห้าวหาญปานว่าเสือ-ดังนี้เป็นต้น)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อาภรณ์คือเครื่องประดับเป็นที่ต้องการของสตรี

: อาภรณ์คือความดีเป็นที่ต้องการของชาวโลก

#บาลีวันละคำ (4,285)

6-3-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *