บาลีวันละคำ

สักกายทิฐิ (บาลีวันละคำ 4,286)

สักกายทิฐิ

เข้าใจไม่ยาก

แต่ทำใจไม่ง่าย

อ่านว่า สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ

ประกอบด้วยคำว่า สักกาย + ทิฐิ

(๑) “สักกาย” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สกฺกาย” (มีจุดใต้ กฺ ตัวหน้า) อ่านว่า สัก-กา-ยะ รากศัพท์มาจาก สํ หรือ สก + กาย 

(ก) “สํ” อ่านว่า สัง ตัดมาจาก “สนฺต” (สัน-ตะ) = มีอยู่ หรือ “สก” (สะ-กะ) = ของตน

(ข) “กาย” บาลีอ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > )

: กุ > + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย

(2) (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + (อะ) ปัจจัย

: + อายฺ = กายฺ + = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย

(3) กาย (ร่างกาย) + ปัจจัย, ลบ  

: กาย + = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)

กาย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ร่างกาย; กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (body; group, heap, collection, aggregate, assembly)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาย, กาย– : (คำนาม) ตัว เช่น ไม่มีผ้าพันกาย, มักใช้เข้าคู่กับคำ ร่าง เป็น ร่างกาย, ใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า หมู่, พวก, เช่น พลกาย = หมู่ทหาร. (ป., ส.).”

(1) สนฺต + กาย ตัด สนฺต เป็น สํ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น กฺ

: สนฺต + กาย = สนฺตกาย > สํกาย > สกฺกาย แปลว่า “กายอันมีอยู่

(2) สก + กาย แผลง ที่ ส เป็นตัวสะกด (หรือจะว่า ลบ ที่ ส แล้วซ้อน กฺ ก็ได้)

: สก + กาย = สกฺกาย แปลว่า “กายของตน” 

สกฺกาย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “สักกาย” มักมีคำอื่นมาต่อท้าย อ่านว่า สัก-กา-ยะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สักกาย– : (คำนาม) กายของตน. (ป.; ส. สฺวกาย).”

(๒) “ทิฐิ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” (บาลีมีจุดใต้ ปฏัก) อ่านว่า ทิด-ถิ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ + ติ = ทิสฺติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิดสมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก

บาลี “ทิฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเขียนเป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”

คำนี้เมื่อใช้ในภาษาธรรม มีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ปฏัก) 

ในที่นี้สะกดเป็น “ทิฐิ” ตามพจนานุกรมฯ 

สกฺกาย + ทิฏฺฐิ = สกฺกายทิฏฺฐิ (สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ) แปลว่า “ความเห็นว่ากายมีอยู่” หรือ “ความเห็นว่ากายของตน” 

สกฺกายทิฏฺฐิ” ในภาษาไทย “-ทิฏฺฐิ” ตัดตัวสะกดออก เขียนเป็น “สักกายทิฐิ” (สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สักกายทิฐิ” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

สักกายทิฐิ : (คำนาม) ความยึดถือว่ากายหรือตัวเป็นของตน. (ป. สกฺกายทิฏฺฐิ;).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สักกายทิฏฐิ” ไว้ดังนี้ –

…………..

สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน, ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน เป็นต้น (ข้อ ๑ ในสังโยชน์ ๑๐)

…………..

ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [329] ว่าด้วย “สังโยชน์ 10” มาเสนอพอเป็นพื้นฐานแห่งความเข้าใจ ดังนี้ –

…………..

สังโยชน์ 10 กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล (Saṃyojana: fetters; bondage)

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5: (สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ (Orambhāgiya~: lower fetters)

1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตนเป็นต้น (Sakkāyadiṭṭhi: personality-view; false view of individuality)

2. วิจิกิจฉา ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ (Vicikicchā: doubt; uncertainty)

3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร (Sīlabbataparāmāsa: adherence to rules and rituals)

4. กามราคะ ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ (Kāmarāga: sensual lust)

5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (Paṭigha: repulsion; irritation)

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5: สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง (Uddhambhāgiya~: higher fetters)

6. รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ (Rūparāga: greed for fine-material existence; attachment to realms of form)

7. อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ (Arūparāga: greed for immaterial existence; attachment to formless realms)

8. มานะ ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (Māna: conceit; pride)

9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (Uddhacca: restlessness; distraction)

10. อวิชชา ความไม่รู้จริง, ความหลง (Avijjā: ignorance)

สังโยชน์ 10 ในหมวดนี้ เป็นแนวพระสูตร หรือ สุตตันตนัย แต่ในบาลีแห่งพระสูตรนั้นๆ มีแปลกจากที่นี้เล็กน้อย คือ ข้อ 4 เป็น กามฉันท์ ความพอใจในกาม (sensual desire) ข้อ 5 เป็น พยาบาท ความขัดเคือง, ความคิดร้าย (ill-will) ใจความเหมือนกัน

…………..

พึงทราบหลักต่อไปด้วยว่า สังโยชน์นี้ท่านยังใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดภูมิแห่งพระอริยุคคล กล่าวคือ –

(1) พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้

(2) พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 ให้เบาบางลงด้วย 

(3) พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด 

(4) พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางลัทธิมีทิฐิพิกล

: คือมีกายของตนไปสถิตอยู่ในภูมิพระนิพพาน

#บาลีวันละคำ (4,286)

7-3-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *