บาลีวันละคำ

สีหนาท (บาลีวันละคำ 4,294)

สีหนาท

ไม่ใช่ “คำรามเหมือนสิงโต”

ภาษาไทยมีคำว่า “บันลือสีหนาท” อ่านว่า บัน-ลือ-สี-หะ-นาด

สีหนาท” ถ้าแยกเป็น สี + หนาท คำว่า “หนาท” ชวนให้อ่านแบบคำที่มี ห นำ เช่น ใบหนาด โกนหนวด คือ “หนาท” อ่านว่า หฺนาด เหมือนคำว่า ใบหนาด 

สีหนาท” ก็ชวนให้อ่านว่า สี-หฺนาด หรือ สี-หะ-หฺนาด

โปรดทราบว่า “สีหนาท” ไม่ได้อ่านแบบนั้น

สีหนาท” อ่านว่า สี-หะ-นาด 

-นาท” อ่านว่า นาด เหมือน ระนาด อำนาจ พินาศ

สีห” แปลว่า ราชสีห์ หรือสิงห์ หรือสิงโต

นาท” แปลว่า เสียงบันลือ เสียงกึกก้อง เสียงคำราม เช่นเสียงฟ้าร้อง ก็ว่าฟ้าคำราม

คำว่า “บันลือสีหนาท” มีคนเข้าใจตรงทื่อไปตามตัวหนังสือว่า “คำรามเหมือนสิงโต

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า คำว่า “บันลือสีหนาท” ไม่ใช่คำรามเหมือนสิงโต

ว่าตามตัวหนังสือก็แปลเช่นนั้น แต่ “บันลือสีหนาท” เป็น “สำนวน” ในภาษาบาลี หรือที่คำฝรั่งเรียกว่า idiom

“บันลือสีหนาท” ถอดความเป็นการกระทำก็คือ –

ประกาศให้รู้-ว่ากูคือใคร

ไม่ใช่เพื่อจะอวดอ้างว่าข้าใหญ่

แต่เพื่อให้เข้าใจความจริง

คนที่บันลือสีหนาทนั้นไม่ใช่อยู่ ๆ ก็บันลือขึ้นมาเอง

แต่จะต้องมีเหตุ คือมีคนพูดจาดูถูกดูแคลนและการพูดจาเช่นนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง

ผู้ที่ถูกดูถูกดูแคลนเห็นว่า ถ้าปล่อยไว้ก็จะเกิดความเสียหาย

เริ่มจากคนที่ดูถูกนั่นเองจะเสียหายก่อน ในฐานะ-ไม่รู้จริงแล้วพูดส่งเดช

ต่อจากนั้น-ก็ขยายไปถึงคนที่ได้ฟังเรื่องนั้นจะพากันเข้าใจผิดแพร่ออกไปอีก

กรณีอย่างนี้แหละที่-ผู้ที่ถูกดูถูกดูแคลนจำจะต้องทำสิ่งที่เรียก “บันลือสีหนาท” คือประกาศความจริงให้รู้ ว่ากูคือใคร

ขยายความ :

(๑) “สีห” 

อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนมฤค

(2) สํ (จาก สํวิชฺชมาน = มีอยู่พร้อม) + อีหา (ความพยายาม) + ณ ปัจจัย, ลบนิคหิต, ลบ และลบสระหน้า คือ อา ที่ (อี)-หา (อีหา > อีห)

: สํ > + อีหา = สีหา > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีความพยายามพร้อมที่จะฆ่ามฤค” แปลทับศัพท์ว่า สีหะ, ราชสีห์ ในภาษาไทยใช้อีกคำหนึ่งว่า สิงโต (a lion)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ระบุไว้ว่า often used as an epithet of the Buddha (มักใช้เป็นคำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า) 

สีห” ในภาษาไทย การันต์ที่ เป็น “สีห์” อ่านว่า สี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีห-, สีห์, สีหะ : (คำนาม) ราชสีห์ เช่น ราชสีห์อาจจะตั้งใจหมายความว่า สีหะ ตัวที่เป็นนายฝูง. (สาส์นสมเด็จ). (ดู สิงห-, สิงห์ ๑). (ป.).”

ตามไปดูที่ “สิงห-, สิงห์ ๑” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สิงห-, สิงห์ ๑ : (คำนาม) สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกำลังมาก, ราชสีห์ ก็เรียก; ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เรียกว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี. (ส. สึห; ป. สีห).”

บาลี “สีห” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สีห-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สีห์” “สีหะ” “สิงห-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สิงห์” 

(๒) “นาท

บาลีอ่านว่า นา-ทะ รากศัพท์มาจาก นทฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (นทฺ > นาท)

: นทฺ + = นทณ > นท > นาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียง” หมายถึง เสียงดัง, เสียงร้องคำราม, คำราม (loud sound, roaring, roar)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นาท : (คำนาม) ความบันลือ; เสียงบันลือ, เสียงร้อง. (ป., ส.).”

สีห + นาท = สีหนาท แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียงของราชสีห์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สีหนาท” ว่า a lion’s roar, the Buddha’s preaching, a song of ecstasy, a shout of exultation “halleluiah” (การคำรามของราชสีห์, คำสอนของพระพุทธเจ้า, เพลงแสดงความปลื้มปีติ, เสียงตะโกนด้วยความดีใจ)

อภิปราย : 

คำว่า “สีหนาท” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

สีหนาท : (คำนาม) สิงหนาท.”

หมายความว่า “สีหนาท” ก็คือ “สิงหนาท” อยากรู้ว่า “สีหนาท” คืออะไร ก็ให้ไปดูที่คำว่า “สิงหนาท

ที่คำว่า “สิงหนาท” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

สิงหนาท : (คำนาม) พระราชดํารัสอันเป็นที่น่าเกรงขามของคนทั้งปวง เหมือนเสียงของราชสีห์เป็นที่น่าเกรงขามของสัตว์ทั้งปวง, เสียงตวาดของนักรบเพื่อให้เป็นที่เกรงขามของข้าศึก, สีหนาท ก็ว่า. (ส. สึห + นาท; ป. สีห + นาท).”

ถามว่า คำว่า “สีหนาท” และ “สิงหนาท” ถ้ามีคำว่า “บันลือ” นำหน้า จะใช้เป็น “บันลือสีหนาท” หรือ “บันลือสิงหนาท

คำตอบอยู่ที่คำว่า “บันลือ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

บันลือ : (คำกริยา) เปล่งเสียงดังก้อง เช่น บันลือสีหนาท; โด่งดัง, เลื่องลือ, เช่น ข่าวบันลือโลก.”

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรมฯ ให้ตัวอย่างเป็น “บันลือสีหนาท” ไม่ใช่ “บันลือสิงหนาท

แต่ที่คำว่า “สีหนาท” พจนานุกรมฯ บอกว่าคือ “สิงหนาท” 

เพราะฉะนั้น “บันลือสีหนาท” จะใช้เป็น “บันลือสิงหนาท” ก็ย่อมไม่ผิด

แถม :

บทสวดมนต์หรือพระปริตรบทหนึ่ง ชื่อ “อาฏานาฏิยปริตร” มีคำว่า “สีหนาทํ นทนฺเต” (สี-หะ-นา-ทัง นะ-ทัน-เต) ซึ่งแปลว่า “บันลือสีหนาท

ขออัญเชิญบท “อาฏานาฏิยปริตร” ท่อนที่ขึ้นต้นว่า เอเต จัญเญ บางส่วน ทั้งคำบาลี คำอ่าน และคำแปล มาเสนอไว้ที่นี้เพื่อเป็นการเจริญพุทธานุสติ ท่านผู้ใดจะนำไปเป็นบทสวดก่อนนอนทุกคืน ก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนักแล

อ่านแล้วจะรู้สึกได้ว่านักปราชญ์ท่านพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าไว้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งนัก เพราะเกิดจากน้ำใจที่ผ่องใสอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ 

ขอชาวเราจงเกิดสติเต็มเปี่ยมในหัวใจเช่นนั้นโดยทั่วกัน เทอญ

…………..

เอเต จญฺเญ จ สมฺพุทฺธา…..อเนกสตโกฏโย 

(เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา อะเนกะสะตะโกฏะโย)

-พระพุทธเจ้าเหล่านี้ก็ดี เหล่าอื่นก็ดี

ซึ่งนับจำนวนได้หลายร้อยโกฏิ

สพฺเพ พุทฺธา อสมสมา…..สพฺเพ พุทฺธา มหิทฺธิกา 

(สัพเพ พุทธา อะสะมะสะมา สัพเพ พุทธา มะหิทธิกา)

-พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้ทรงเสมอกันกับพระพุทธเจ้า 

ผู้ทรงหาใครเสมอมิได้ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงมีมหิทธิฤทธิ์

สพฺเพ ทสพลูเปตา…..เวสารัชเชหุปาคตา 

(สัพเพ ทะสะพะลูเปตา เวสารัชเชหุปาคะตา)

-ทุกๆ พระองค์ทรงประกอบด้วยทศพลญาณ

ทรงประกอบด้วยเวสารัชญาณ

สพฺเพ เต ปฏิชานนฺติ…..อาสภณฺฐานมุตฺตมํ 

(สัพเพ เต ปะฏิชานันติ อาสะภัณฐานะมุตตะมัง)

-ทุกๆ พระองค์ทรงปฏิญญาพระองค์

ในฐานะผู้มีคุณธรรมอันสูงสุด

สีหนาทํ นทนฺเต เต…..ปริสาสุ วิสารทา 

(สีหะนาทัง นะทันเต เต ปะริสาสุ วิสาระทา)

-ทรงเป็นผู้องอาจ บันลือกระแสธรรมท่ามกลางพุทธบริษัท

ดุจราชสีห์บันลือสีหนาท

พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตนฺติ…..โลเก อปฺปฏิวตฺติยํ 

(พ๎รัห๎มะจักกัง ปะวัตเตนติ โลเก อัปปะฏิวัตติยัง)

-ยังพรหมจักรให้เป็นไป 

ไม่มีใครคัดค้านได้ในโลก

อุเปตา พุทฺธธมฺเมหิ…..อฏฺฐารสหิ นายกา 

(อุเปตา พุทธะธัมเมหิ อัฏฐาระสะหิ นายะกา)

-ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม ๑๘ ประการ

ทรงเป็นผู้นำแห่งชาวโลก

ทฺวตฺตึสลกฺขณูเปตา-…..สีตฺยานุพฺยญฺชนาธรา 

(ท๎วัตติงสะลักขะณูเปตา สีต๎ยานุพ๎ยัญชะนาธะรา)

-ทรงประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ

และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ

พฺยามปฺปภาย สุปฺปภา…..สพฺเพ เต มุนิกุญฺชรา 

(พ๎ยามัปปะภายะ สุปปะภา สัพเพ เต มุนิกุญชะรา)

-ทรงมีพระรัศมีอันงดงาม 

แผ่ออกจากพระวรกายโดยรอบข้างละวา

ทุกๆ พระองค์ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ

พุทฺธา สพฺพญฺญุโน เอเต…..สพฺเพ ขีณาสวา ชินา 

(พุทธา สัพพัญญุโน เอเต สัพเพ ขีณาสะวา ชินา)

-ทุกๆ พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญู 

เป็นพระชีณาสพ เป็นผู้ชำนะซึ่งพญามาร

มหปฺปภา มหาเตชา…..มหาปญฺญา มหพฺพลา 

(มะหัปปะภา มะหะเตชา มะหาปัญญา มะหัพพะลา)

-ทรงมีพระรัศมีและทรงมีพระเดชมาก

ทรงมีพระปัญญาและพระกำลังมาก

มหาการุณิกา ธีรา…..สพฺเพสานํ สุขาวหา 

(มะหาการุณิกา ธีรา สัพเพสานัง สุขาวะหา)

-ทรงมีพระมหากรุณา และทรงเป็นจอมปราชญ์

ทรงนำความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งปวง

ทีปา นาถา ปติฏฺฐา จ…..ตาณา เลณา จ ปาณินํ 

(ทีปา นาถา ปะติฏฐา จะ ตาณา เลณา จะ ปาณินัง)

-ทรงเป็นดุจเกาะ เป็นดุจที่พึ่ง และเป็นดุจที่พำนักอาศัย

ทรงเป็นดุจที่ต้านทานซึ่งภัยทั้งปวง 

เป็นดุจที่หลีกเร้นของสัตว์ทั้งหลาย

คตี พนฺธู มหสฺสาสา…..สรณา จ หิเตสิโน 

(คะตี พันธู มะหัสสาสา สะระณา จะ หิเตสิโน)

-ทรงเป็นที่ส่งใจถึง ทรงเป็นพวกพ้อง ทรงเป็นที่อุ่นใจอย่างยิ่ง

ทรงเป็นสรณะและเป็นผู้แสวงสิ่งเอื้อเกื้อกูล

สเทวกสฺส โลกสฺส…..สพฺเพ เอเต ปรายนา 

(สะเทวะกัสสะ โลกัสสะ สัพเพ เอเต ปะรายะนา)

-ทุกๆ พระองค์ทรงเป็นที่มุ่งหวังในเบื้องหน้า

แก่ประชาชาวโลกพร้อมทั้งเทวดา

เตสาหํ สิรสา ปาเท…..วนฺทามิ ปุริสุตฺตเม 

(เตสาหัง สิระสา ปาเท วันทามิ ปุริสุตตะเม)

-ข้าพระองค์ขอถวายอภิวาทพระบาทยุคล

ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยเศียรเกล้า

วจสา มนสา เจว…..วนฺทาเมเต ตถาคเต 

(วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเมเต ตะถาคะเต)

-พร้อมทั้งวาจาและด้วยดวงใจ ขอถวายอภิวาท –

ซึ่งพระตถาคตเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นผู้ทรงเป็นอุดมบุรุษ 

สยเน อาสเน ฐาเน…..คมเน จาปิ สพฺพทา 

(สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา)

-ขอถวายอภิวาทในกาลทุกเมื่อ

ทั้งยามนอน ยามนั่ง ยามยืน และแม้ในยามเดิน 

สทา สุเขน รกฺขนฺตุ…..พุทฺธา สนฺติกรา ตุวํ 

(สะทา สุเขนะ รักขันตุ พุทธา สันติกะรา ตุวัง)

-ขอพระพุทธเจ้าผู้ทรงสร้างสันติจงรักษาท่านให้มีความสุข

ตลอดกาลทุกเมื่อเถิด

เตหิ ตฺวํ รกฺขิโต สนฺโต…..มุตฺโต สพฺพภเยน จ 

(เตหิ ต๎วัง รักขิโต สันโต มุตโต สัพพะภะเยนะ จะ)

-ท่านเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรักษาแล้ว

จงเป็นผู้พ้นจากภัยทั้งปวง

สพฺพโรควินิมุตฺโต…..สพฺพสนฺตาปวชฺชิโต 

(สัพพะโรคะวินิมุตโต สัพพะสันตาปะวัชชิโต)

-พ้นจากโรคทั้งปวง 

หายจากความเดือดร้อนทั้งปวง

สพฺพเวรมติกฺกนฺโต…..นิพพฺโต จ ตุวํ ภว. 

(สัพพะเวระมะติกกันโต นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ)

-ล่วงเสียซึ่งเวรทั้งปวง 

และดับทุกข์ทั้งปวงได้ เทอญ.

…………..

หมายเหตุ : บทสวดและคำแปลคัดมาจาก -http://www.watpamahachai.net/watpamahachai-68_11.htm

คำแปลนั้นไม่ทราบว่าเป็นสำนวนแปลของท่านผู้ใด ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตปรับแต่งบ้างเล็กน้อยเพื่อให้กะทัดรัดชัดเจนขึ้น ผู้ต้องการอ่านบทเต็ม ๆ เชิญตามไปอ่านได้ตามอัธยาศัยเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าข้ามคนล้ม อย่าข่มคนแพ้

: ไม่แน่ว่าสักวันเขาจะลุกขึ้นมาบันลือสีหนาทได้

#บาลีวันละคำ (4,294)

15-3-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *