บาลีวันละคำ

เบญจขันธ์ (บาลีวันละคำ 1,883)

เบญจขันธ์

หญ้าปากคอก

อ่านว่า เบน-จะ-ขัน

แยกคำเป็น เบญจ + ขันธ์

(๑) “เบญจ

บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ

(๒) “ขันธ์

บาลีเป็น “ขนฺธ” (ขัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > )

: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้

(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ

: ขาทฺ > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ

(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ

: ขชฺชฺ > ขนฺธ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน

(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ปัจจัย

: ขนฺ + = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)

ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)

(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)

(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)

(4) ลำต้น (the trunk)

(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)

(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)

ปญฺจ (+ กฺ) + ขนฺธ = ปญฺจกฺขนฺธ (ปัน-จัก-ขัน-ทะ) แปลว่า “กองทั้งห้า

ปญฺจกฺขนฺธ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เบญจขันธ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เบญจขันธ์ : (คำนาม) กอง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] แสดงเรื่อง “เบญจขันธ์” ไว้ดังนี้ –

ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา–เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — Pañca-khandha: the Five Groups of Existence; Five Aggregates)

1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — Rūpa-khandha: corporeality)

2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์, ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — Vedanā-khandha: feeling; sensation)

3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้นๆ ได้, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — Saññā-khandha: perception)

4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — Saŋkhāra-khandha: mental formations; volitional activities)

5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — Viññāṇa-khandha: consciousness)

ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, 4 ขันธ์นอกนั้นเป็นนาม.

…………..

ขันธ์ 5 เป็นเรื่องใกล้ตัว จนเรามักลืมนึกถึง

ผู้เขียนบาลีวันละคำเขียนมาหลายปี เขียนได้ถึง 1,882 คำ แต่ก็เพิ่งนึกถึงคำว่า “เบญจขันธ์” ได้วันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีแล้วคนละห้ายังไม่สาหัส

: ถีบกัดหามาอีกคนละห้าขันธ์

: เหมือนคนบ้าแบกสมบัติโอ้อัศจรรย์

: ใครรู้ทันวางทุกข์ถึงสุขเอย.

5-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย