บาลีวันละคำ

เซ็นชื่อ (บาลีวันละคำ 4,295)

เซ็นชื่อ

เข้าป่ากันเป็นประจำเพราะคำนี้

คำว่า “เซ็นชื่อ” มีความหมายอย่างเดียวเดียวกับ “ลายเซ็น” ซึ่งหมายถึงลงลายมือชื่อ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เซ็น” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) เซน, เซ็น ๑ : (คำนาม) นิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แพร่หลายในญี่ปุ่น เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุความรู้แจ้งอย่างฉับพลัน โดยการทำสมาธิและใช้ปัญญาขบคิดปริศนาธรรม. (ญิ.).

(2) เซ็น ๒ : (คำนาม) ไม้ที่สอดเข้ากับลูกตั้งเรือนฝากระแชงอ่อนหรือฝาขัดแตะ. (คำกริยา) เย็บแบบด้วยดอกไม้หรือใบไม้ให้เป็นแถบยาว เพื่อใช้ตกแต่งประดับโครงประทุนคลุมผ้าไตรเป็นต้น, สวน ก็ว่า.

(3) เซ็น ๓ : (คำกริยา) ลงลายมือชื่อ, เซ็นชื่อ ก็ว่า, (ภาษาปาก) ซื้อโดยค้างชำระเงินและผู้ขายลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน เช่น เซ็นค่าก๋วยเตี๋ยวไว้ก่อน. (อ. sign).

คำว่า “เซ็น” หรือ “เซ็นชื่อ” ก็คือ “เซ็น” ในข้อ 3 ซึ่งตรงกับคำอังกฤษว่า sign

คำว่า “เซ็น” หรือ “เซ็นชื่อ” นี้ คนทั้งหลายมักจะสะกดเป็น “เซ็นต์” หรือ “เซ็นต์ชื่อ” คือ “เซ็นต์” มี ต์ การันต์ด้วย

เซ็นต์” มี ต์ การันต์ ชวนให้เข้าใจว่า ถ้ามาจากคำอังกฤษก็จะต้องมีตัว t ด้วย

เซ็นชื่อ” มาจากคำอังกฤษว่า sign ไม่มีตัว t

แล้วทำไมไปเขียนเป็น “เซ็นต์” หรือ “เซ็นต์ชื่อ” เอา ต์ มาจากไหน?

เคยได้ยินผู้อธิบายแก้แทนให้ว่า “เซ็นต์” หรือ “เซ็นต์ชื่อ” (คำเขียนผิด) เขียนมี ต์ เพราะติดมาจากคำว่า “เปอร์เซ็นต์” 

คำว่า “เปอร์เซ็นต์” “เซ็นต์” มี ต์ การันต์ เพราะคำอังกฤษว่า percent แปลว่า ร้อยละ หรือ ต่อร้อย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

เปอร์เซ็นต์ : (คำนาม) จำนวนที่เทียบเป็นส่วนร้อยหรือร้อยละ, การคิดเทียบเป็นส่วนร้อย เรียกว่า ร้อยละ หรือ ต่อร้อย ใช้เครื่องหมาย % แทน เช่น นักเรียนโรงเรียนนี้สอบได้ ๗๐ % คือ สอบได้ ๗๐ คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด ๑๐๐ คน เด็กคนนี้สอบได้ ๘๐ % คือ ได้คะแนน ๘๐ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน; (ภาษาปาก) ค่านายหน้า, ค่าตอบแทนในการติดต่อซื้อขายเป็นต้น, เช่น ได้เปอร์เซ็นต์ ให้เปอร์เซ็นต์.”

เปอร์เซ็นต์” “เซ็นต์” มี ต์ การันต์ เพราะคำอังกฤษ percent มีตัว t ด้วย

แต่ “เซ็นชื่อ” มาจากคำอังกฤษว่า sign ไม่มีตัว t 

แล้วจะต้องมี ต์ การันต์ทำไม?

นี่คือวิธีคิดของผู้เขียนบาลีวันละคำซึ่งเป็นคนแก่ แต่คนที่เขียนคำว่า “เซ็นต์” หรือ “เซ็นต์ชื่อ” ไม่ได้คิด 

แปลว่า เวลานี้คนไทยเขียนหนังสือโดยไม่ได้คิดกันมากขึ้น

ขยายความ :

คำว่า “เซ็น” หรือ “เซ็นชื่อ” ตรงกับคำอังกฤษว่า sign

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล sign เป็นบาลีดังนี้ : 

คำนาม

(1) lakkhaṇa เลกฺขณ (เลก-ขะ-นะ) = การเขียน, ลงลายมือ

(2) lañchana ลญฺฉน (ลัน-ฉะ-นะ) = ลายมือ (ตัวอักษรที่ใช้มือเขียน)

(3) abhiññāṇa อภิญฺญาณ (อะ-พิน-ยา-นะ) = การบอกให้รู้

(4) iṅgita อิงฺคิต (อิง-คิ-ตะ) = การแสดงอาการ, เครื่องหมาย

(5) viññāpana วิญฺญาปน (วิน-ยา-ปะ-นะ) = การบอกให้รู้

(6) viññatti วิญฺญตฺติ (วิน-ยัด-ติ) = การแสดงอาการให้รู้

(6) visesadhaja วิเสสธช (วิ-เส-สะ-ทะ-ชะ) = ธงพิเศษ, ธงสัญญาณ

คำกริยา

(1) hatthalañchaṃ patiṭṭhāpeti หตฺถลญฺฉนํ ปติฏฺฐาเปติ (หัด-ถะ-ลัน-ฉะ-นัง ปะ-ติด-ถา-เป-ติ) = ลงลายมือชื่อ

(2) viññāpeti วิญฺญาเปติ (วิน-ยา-เป-ติ) = บอกให้รู้, แสดงให้รู้

(3) saññaṃ deti สญฺญํ เทติ (สัน-ยัง เท-ติ) = ให้สัญญาณ

…………..

ดูก่อนภราดา!

คำคนเก่า: อย่าเซ็นก่อนอ่าน

คำคนแก่: อย่าเขียนก่อนคิด

#บาลีวันละคำ (4,295)

16-3-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *