ฉันเพล ไม่ใช่ ฉันท์เพล (บาลีวันละคำ 4,302)
ฉันเพล ไม่ใช่ ฉันท์เพล
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นป้ายประกาศข้างทางเขียนคำว่า “ฉันท์เพล” (ดูภาพประกอบ) จึงขอเก็บมาเขียนเป็นบาลีวันละคำวันนี้
โปรดทราบทั่วกันว่า พระฉันอาหารมื้อกลางวัน ภาษาไทยเรียกว่า “ฉันเพล”
คำว่า “ฉัน” สะกดเป็น ฉ + ไม้หันอากาศ + น = ฉัน
“ฉันเช้า” “ฉันเพล”
“ฉัน” เท่านี้ ไม่ต้องมี ท การันต์
“ฉันท์เพล” เป็นคำที่เขียนผิด
อย่าเขียนตาม อย่าใช้ตาม
ช่วยกันกำชับลูกหลานด้วย
ต่อไปก็ช่วยกันหาความรู้
“ฉัน” เป็นคำไทย
“ฉันท์” เป็นคำบาลี
(๑) “ฉัน” เป็นคำไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ฉัน” ไว้ 4 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฉัน ๑ : (คำสรรพนาม) คำใช้แทนตัวผู้พูด พูดกับผู้ที่เสมอกันหรือผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.
(2) ฉัน ๒ : (คำกริยา) กิน (ใช้แก่ภิกษุสามเณร).
(3) ฉัน ๓ : (คำวิเศษณ์) เสมอเหมือน, เช่น, อย่าง, เช่น ฉันญาติ.
(4) ฉัน ๔ : (คำวิเศษณ์) มีแสงกล้า, มีแสงพุ่งออกไป, เช่น พระสุริฉัน.
ขอเสนอวิธีจำเพื่อเข้าใจง่ายดังนี้ –
ฉัน ๑ ฉัน-กู
ฉัน ๒ ฉัน-กิน
ฉัน ๓ ฉัน-เหมือน
ฉัน ๔ ฉัน-ส่องแสง
จะเห็นได้ว่า คำธรรมดาที่เราพูดกันว่า “กิน” เมื่อใช้แก่ภิกษุสามเณร ใช้ว่า “ฉัน”
ฉ + ไม้หันอากาศ + น = ฉัน
“ฉันเช้า” “ฉันเพล”
“ฉัน” เท่านี้ ไม่ต้องมี ท การันต์
(๒) “ฉันท์” เป็นคำบาลี
“ฉันท์” เขียนแบบบาลีเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: ฉนฺทฺ + อ = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา”
(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท)
: ฉทฺ + อ = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ”
“ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)
(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้น ๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”
(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry)
ความหมายในข้อ (3) นี้ คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท–ฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา”
ในภาษาไทย ใช้เป็น “ฉันท-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “ฉันท์” และ “ฉันทะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฉันท– ๑, ฉันท์ ๑ : (คำนาม) ชื่อคำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่วางคำ ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ. (ป.).
(2) ฉันท– ๒, ฉันท์ ๒, ฉันทะ : (คำนาม) ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี; ความร่วมความคิดความเห็นกัน เช่น ลงมติเป็นเอกฉันท์, ความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น มอบฉันทะ. (ป.).
“ฉนฺท” ถ้าต้องการให้ออกเสียง “-ทะ” ก็เขียนว่า “ฉันทะ” ถ้าต้องการให้ออกเสียงว่า “ฉัน” ก็เขียนว่า “ฉันท์” (การันต์ที่ ท) ซึ่งเสียงพ้องกับ “ฉัน” คำไทย
ดังนั้น พระภิกษุสามเณรฉันอาหารมื้อกลางวัน เขียนว่า “ฉันท์เพล” จึงผิด
คำที่ถูกคือ “ฉันเพล” ฉัน คำไทย ไม่ต้องมี ท การันต์
ขยายความ :
พระภิกษุสามเณรในเมืองไทย โดยทั่วไปฉันวันละ 2 เวลา คือเวลาเช้า ตั้งแต่ตะวันขึ้นจนใกล้สาย หรือเวลาระหว่าง 07:00 นาฬิกา ถึง 08:00 นาฬิกา เรียกว่า “ฉันเช้า” และเวลาระหว่าง 11:00 นาฬิกา ถึง 12:00 นาฬิกา เรียกว่า “ฉันเพล”
เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แถมให้อีกคำหนึ่ง คือคำว่า “เพล” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“เพล : (คำนาม) เวลาพระฉันกลางวัน คือ เวลาระหว่าง ๑๑ นาฬิกาถึงเที่ยง เรียกว่า เวลาเพล. (ป., ส. เวลา ว่า กาล).”
คำอธิบายในพจนานุกรมฯ บอกว่า “เวลาพระฉันกลางวัน” ก็สะกดว่า “ฉัน” เกลี้ยง ๆ แบบนี้ ไม่มี ท การันต์
“ฉันกลางวัน” ก็คือ “ฉันเพล”
แถม :
ถ้าคนไทยขยันเปิดพจนานุกรมกันให้มากขึ้น
คำที่เขียนผิด ๆ ก็จะน้อยลง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีโปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งไว้ในโทรศัพท์มือถือได้ และเปิดอ่านได้ทุกที่ ไม่ต้องใช้สัญญาณอินเทอเน็ต
ถ้าเด็กไทยวันนี้ –
ใช้เวลาเขี่ยโทรศัพท์เล่นเกมให้น้อยลง
และหัดใช้เวลาเขี่ยโทรศัพท์อ่านพจนานุกรมกันบ้าง
คนไทยวันหน้า –
ก็จะเขียนภาษาไทยถูกต้องมากขึ้น
และคำที่เขียนผิด ๆ ก็จะน้อยลง
ภาษาไทยก็จะงามมากขึ้น
และทรามน้อยลง
แต่น่าเสียดายที่ –
พ่อแม่ไทยวันนี้ไม่ได้สอนลูกหลานให้รู้จักพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (เพราะตัวพ่อแม่เองก็ไม่รู้จัก)
ครูบาอาจารย์ในสถานศึกษาก็ไม่ได้ปลูกฝังให้นักเรียนนักศึกษารักการเปิดพจนานุกรม
คำที่เขียนผิดสะกดผิดจึงระบาดกลาดเกลื่อนทั่วไปหมด
ทั้งไม่มีใครเห็นว่าเสียหาย
ถึงกับตั้งทฤษฎีว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีผิดไม่มีถูก
เขียนออกไปแล้ว คนอ่านเข้าใจว่าสื่อถึงอะไร-เท่านั้นพอ
ไม่จำเป็นต้องใช้กฎเกณฑ์ว่า สะกดอย่างนั้นผิด สะกดอย่างนี้ถูก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ฉันอะไรใช้ดีดี
ฉันท์บาลีฤๅฉันไทย
ใช้ชอบควรชอบใจ
ใช่ชอบใช้ตามใจฉัน
#บาลีวันละคำ (4,302)
23-3-67
…………………………….
…………………………….