แม่พิมพ์ ไม่ใช่ พ่อพิมพ์ (บาลีวันละคำ 4,303)
แม่พิมพ์ ไม่ใช่ พ่อพิมพ์
“แม่” ไม่ใช่คำบอกเพศไปเสียทั้งหมด
คำว่า “แม่พิมพ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“แม่พิมพ์ : (คำนาม) สิ่งที่เป็นต้นแบบ เช่น แม่พิมพ์ตัวหนังสือ, โดยปริยายหมายถึงครูอาจารย์ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างความประพฤติของศิษย์.”
คำว่า “โดยปริยายหมายถึงครูอาจารย์” ทำให้เรานิยมเรียกครูอาจารย์ว่า “แม่พิมพ์”
อยู่มาวันหนึ่ง มีคนคิดขึ้นมาว่า ครูอาจารย์ผู้หญิง เรียกว่า “แม่พิมพ์” เป็นการถูกต้องแล้ว แต่ครูอาจารย์ผู้ชายเรียกว่า “แม่พิมพ์” น่าจะไม่ถูก ควรเรียกว่า “พ่อพิมพ์” จึงจะถูก เพราะเป็นผู้ชาย
คิดดังนั้นแล้ว จึงเรียกครูอาจารย์ผู้หญิงว่า “แม่พิมพ์” และเรียกครูอาจารย์ผู้ชายว่า “พ่อพิมพ์” ตั้งแต่นั้นมา
เข้าใจว่าทุกวันนี้ก็น่าจะยังมีคนเรียกแยกเพศเช่นนี้กันอยู่ทั่วไป
โปรดทราบทั่วกันว่า คำว่า “พ่อพิมพ์” เป็นคำวิปลาส เกิดจากการไม่เข้าใจภาษาไทย
คำว่า “แม่” ในคำว่า “แม่พิมพ์” นี้ ไม่ใช่คำแสดงเพศ เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็จะได้ความรู้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “แม่” ไว้ดังนี้ –
(1) หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน.
(2) คำที่ผู้ใหญ่เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือรักใคร่เป็นต้น ว่า แม่นั่น แม่นี่.
(3) คำใช้นำหน้านามเพศหญิง แปลว่า ผู้เป็นหัวหน้า เช่น แม่บ้าน.
(4) ผู้หญิงที่กระทำกิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค้าขาย เรียกว่า แม่ค้า ทำครัว เรียกว่า แม่ครัว.
(5) เรียกสัตว์ตัวเมียที่มีลูก เช่น แม่ม้า แม่วัว.
(6) เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง.
(7) คำยกย่องเทวดาผู้หญิงบางพวก เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ, บางทีก็ใช้ว่า เจ้าแม่ เช่น เจ้าแม่กาลี.
(8 ) เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ.
(9) เรียกชิ้นใหญ่กว่าในจำพวกสิ่งที่สำหรับกัน เช่น แม่กุญแจ คู่กับ ลูกกุญแจ.
(10) แม่นํ้า เช่น แม่ปิง แม่วัง.
(11) คำหรือพยางค์ที่มีแต่สระ ไม่มีตัวสะกด เรียกว่า แม่ ก กา หรือมาตรา ก กา, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ก ข ค ฆ สะกด เรียกว่า แม่กกหรือมาตรากก, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ง สะกด เรียกว่า แม่กงหรือมาตรากง, คำหรือพยางค์ที่มีตัว จ ฉ ช ซ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ถ ท ธ ศ ษ ส สะกด เรียกว่า แม่กดหรือมาตรากด, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ญ ณ น ร ล ฬ สะกด เรียกว่า แม่กนหรือมาตรากน, คำหรือพยางค์ที่มีตัว บ ป พ ฟ ภ สะกด เรียกว่า แม่กบหรือมาตรากบ, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ม สะกด เรียกว่า แม่กมหรือมาตรากม, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ย สะกด เรียกว่า แม่เกยหรือมาตราเกย แต่ในมูลบทบรรพกิจมี ย ว อ สะกด, คำหรือพยางค์ที่มีตัว ว สะกด เรียกว่า แม่เกอวหรือมาตราเกอว.
…………..
จะเห็นได้ว่า “แม่” มีความหมายหลายอย่าง แต่ในคำว่า “แม่พิมพ์” นี้ “แม่” ใช้ในความหมายตามนัยแห่งข้อ (6) เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง และข้อ (8 ) เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ
“แม่” ในคำว่า “แม่พิมพ์” ไม่ใช่คำแสดงความเป็นเพศหญิงดังที่บางคน (หลายคน) เข้าใจ
การเรียกครูผู้ชายว่า “พ่อพิมพ์” เป็นสิ่งบอกเหตุว่า คนสมัยนี้เข้าใจคำว่า “แม่” ในแง่เดียวเท่านั้น คือ แม่–คือเพศหญิง
คงไม่น่าแปลกใจถ้าในอนาคตจะมีคนบ้าจี้เปลี่ยนคำว่า “แม่ทัพ” เป็น “พ่อทัพ” และ “แม่กองบาลีสนามหลวง” เปลี่ยนเป็น “พ่อกองบาลีสนามหลวง” หรือไม่ก็ “พระกองบาลีสนามหลวง”
…………..
หาความรู้คำว่า “พิมพ์”
“พิมพ์” บาลีเป็น “พิมฺพ” อ่านว่า พิม-พะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ว ปัจจัย, แปลง ม ที่ ม-(นฺ) เป็น พ, อะ ที่ ม-(นฺ) เป็น อิ, น ที่ (ม)-นฺ เป็น ม, ว ปัจจัยเป็น พ
: มนฺ + ว = มนฺว > พนฺว > พินฺว > พิมฺว > พิมฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้รู้จัก” คือเมื่อเห็นสิ่งนี้ก็ทำให้รู้ได้ว่าเป็นสิ่งนั้น
(2) วมุ (ธาตุ = สำรอก, อาเจียน, ลอกออก) + พ ปัจจัย, แปลง ว ที่ ว-(มุ) เป็น พ, อะ ที่ ว-(มุ) เป็น อิ, ลบสระที่สุดธาตุ (วมุ > วมฺ)
: วมุ > วมฺ + พ = วมฺพ > พมฺพ > พิมฺพ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาลอกแบบมา”
“พิมฺพ” หมายถึง รูปร่าง, แบบ, ทรวดทรง, รูปเปรียบ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พิมฺพ” ว่า –
(1) shape, image (ทรวดทรง, รูปเปรียบ)
(2) the red fruit of Momordica monadelpha, a species of Amaranth (ผลไม้ชนิดหนึ่ง มีสีแดง, ลูกตำลึง)
“พิมฺพ” เดิมเป็นคำเรียก “รูปหุ่นที่ตกแต่งไว้” ธรรมดา “หุ่น” จะทำให้สวยงามขนาดไหนก็ย่อมได้ “พิมฺพ” จึงมีความหมายโดยนัยว่า “ร่างที่สวยงาม” และเป็นคำใช้เรียกสตรีที่มีรูปร่างงาม (ชื่อ “พิมพิลาไลย” น่าจะมีนัยเช่นนี้)
ไทยเอาคำว่า “พิมฺพ” มาใช้ว่า “พิมพ์” อ่านว่า พิม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิมพ์ : (คำนาม) รูป, รูปร่าง, แบบ, เช่น หยอดวุ้นลงในพิมพ์ หน้าตาเป็นพิมพ์เดียวกัน. (คำกริยา) ถ่ายแบบ, ใช้เครื่องจักรกดตัวหนังสือหรือภาพเป็นต้นให้ติดบนวัตถุ เช่นแผ่นกระดาษ ผ้า, เช่น พิมพ์ผ้า พิมพ์ขนมเป็นรูปต่าง ๆ. (ป., ส.).”
คำฝรั่งที่เราพูดกันว่า print บาลีใช้ว่า “มุทฺทาเปติ = ถอดแบบ” และ publish บาลีว่า “ปกาเสติ = ประกาศให้ทราบ” ไม่ได้ใช้คำว่า “พิมฺพ” เหมือนในภาษาไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขยันเปิดพจนานุกรมกันสักนิด
: ภาษาวิปริตก็จะลดน้อยลง
#บาลีวันละคำ (4,303)
24-3-67
…………………………….
…………………………….