บาลีวันละคำ

อญฺญํ พฺยากโรติ (บาลีวันละคำ 4,304)

อญฺญํ พฺยากโรติ

อ่านไม่ออก แปลไม่ได้ แต่เรียนรู้ได้

อญฺญํ พฺยากโรติ” เป็นประโยคภาษาบาลี นักเรียนบาลีแปลกันมาว่า “ย่อมพยากรณ์พระอรหัต

พยากรณ์พระอรหัต” หมายถึง การอวดอ้างว่าตนมีคุณธรรมของพระอรหันต์ คืออวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลถึงระดับเป็นพระอรหันต์

ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาที่ใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทยชั้นประโยค 1-2 และชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค จะมีเรื่องราวหลายตอนที่กล่าวถึงภิกษุพูดคุยสอบถามกันในเรื่องธรรมะ ภิกษุที่ถูกถามจะพูดถึงความรู้สึก หรือความคิด หรืออารมณ์บางอย่างของตน ซึ่งถือว่าเป็นการ “พยากรณ์พระอรหัต

ขอยกตัวอย่างคำพูดที่เข้าข่าย “พยากรณ์พระอรหัต” ดังนี้ –

– “ผมบรรลุแล้ว” (แบบนี้พยากรณ์พระอรหัตตรง ๆ)

– “ตอนบวชใหม่ ๆ ก็รู้สึกอยากโน่นอยากนี่ แต่เดี๋ยวนี้ชักไม่รู้สึกอยากอะไรอีกแล้ว

– “ผมขอเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย

ภิกษุคู่สนทนาได้ฟังคำพูดทำนองนี้ก็จะไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “อญฺญํ พฺยากโรติ” (ภิกษุรูปนี้ย่อมพยากรณ์พระอรหัต) ก็คือไปฟ้องว่า ภิกษุรูปนั้นอวดอ้างว่าได้บรรลุมรรคผลนั่นเอง

ถ้าภิกษุรูปนั้นได้บรรลุมรรคผลจริง พระพุทธองค์ก็จะทรงรับรองว่าได้บรรลุจริง ไม่ได้อวด

…………..

อ่านตัวอย่างเรื่องที่มีคำพูด “พยากรณ์พระอรหัต” ที่ลิงก์นี้

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=9

…………..

อญฺญํ พฺยากโรติ” เป็นประโยคภาษาบาลีตรง ๆ ไม่มีใช้ในภาษาไทย เอ่ยให้ใครฟังก็คงไม่มีใครรู้เรื่อง

แต่ถือโอกาสเรียนบาลีเฉพาะประโยคนี้ก็คงไม่เสียหลาย [เสียหลาย: เสียเปล่า (ใช้ในความปฏิเสธ) เช่น งานวิจัยชิ้นนี้ทำไปก็ได้ประโยชน์ ไม่เสียหลาย]

อญฺญํ พฺยากโรติ” อ่านว่า อัน-ยัง เพีย-กะ-โร-ติ ประกอบด้วยคำว่า “อญฺญํ” และ “พฺยากโรติ” รวมกันเป็นประโยค แต่เป็นคนละคำกัน 

(๑) “อญฺญํ

อ่านว่า อัน-ยัง รูปคำเดิมเป็น “อญฺญา” อ่านว่า อัน-ยา รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, รัสสะ อา อุปสรรคเป็น อะ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรคกับธาตุ (อา + ญฺ + ญา

: อา + ญฺ + ญา = อาญฺญา + กฺวิ = อาญฺญากฺวิ > อญฺญากฺวิ > อญฺญา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่พึงรู้เกินกว่าขอบเขตที่ปฐมมรรคเป็นต้นได้บรรลุแล้ว” หมายถึง พระอรหัตผล คือสภาวธรรมที่ทำผู้บรรลุให้เป็นพระอรหันต์ หรือเรียกทับศัพท์ว่า “พระอรหัต” คำนี้เป็นคนละคำกับ “พระอรหันต์”

“พระอรหัต” หมายถึง คุณธรรมที่ทำผู้บรรลุให้เป็นพระอรหันต์

“พระอรหันต์” หมายถึง ผู้บรรลุคุณธรรมนั้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อญฺญา” ว่า knowledge, recognition, perfect knowledge, philosophic insight, knowledge par excellence, viz. Arahantship, saving knowledge, gnosis (ความรู้, การเห็นแจ้ง, การรู้จริง, วิปัสสนา, การบรรลุโลกุตรธรรม, กล่าวคือ ความเป็นพระอรหันต์, การตรัสรู้, การรู้แจ้งเห็นจริง)

อญฺญา” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “อญฺญํ

(๒) “พฺยากโรติ” 

อ่านว่า เพีย-กะ-โร-ติ เป็นรูปคำกริยาอาขยาต ปัจจุบันกาล เอกวจนะ ปฐมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่ถูกพูดถึง) กัตตุวาจก รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + โอ ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + ติ วัตตมานาวิภัตติอาขยาต, แปลง อิ ที่ วิ เป็น , แปลง วฺ เป็น พฺ (วิ > วฺย > พฺย)

: วิ + อา + กรฺ = วิอากรฺ > วฺยากรฺ + โอ = วฺยากโร + ติ = วฺยากโรติ > พฺยากโรติ แปลว่า “(เขา) ย่อมทำให้แจ้ง” หรือ “(เขา) ย่อมพยากรณ์” 

อญฺญํ พฺยากโรติ” นักเรียนบาลีแปลยกศัพท์ว่า –

(อยํ ภิกฺขุ = อันว่าภิกษุนี้)

พฺยากโรติ = ย่อมพยากรณ์

อญฺญํ = ซึ่งพระอรหัตผลอันบุคคลพึงรู้ทั่ว

ถอดความว่า ภิกษุรูปนี้อวดอ้างว่าตนบรรลุมรรคผล

ตรงกับภาษาที่มีผู้ชอบพูดจนคุ้นหูคนไทยว่า หลวงปู่นั่นหลวงพ่อนี่เป็นอริยสงฆ์

ขยายความ :

ในสมัยพุทธกาล ผู้รับรองว่าใครเป็นพระอริยะมีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว แม้พระอรหันตสาวกทั้งหลาย เช่นพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ทั้ง ๆ ที่ท่านรู้ว่าใครบรรลุมรรคผล แต่ท่านก็ไม่เคยรับรองใครว่าเป็นพระอริยะ

หลักเกี่ยวกับการบอกกล่าวว่าใครเป็นพระอริยะ ท่านแสดงไว้ว่า ผู้จะรู้หรือรับรองได้ว่าใครเป็นพระอริยะจะต้องได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยะในระดับที่สูงกว่าหรืออย่างน้อยก็ในระดับเดียวกันเท่านั้นจึงจะรู้ได้

ดังนั้น ผู้ที่นิยมยกย่องหลวงปู่หลวงพ่อที่ตนเคารพนับถือว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้เป็นอริยสงฆ์หรือเป็นพระอริยะ ก็เท่ากับบอกว่าตัวผู้บอกก็เป็นพระอริยะด้วยนั่นเอง 

จุดนี้แหละที่คนที่ชอบบอกว่าท่านผู้นั้นผู้นี้เป็นพระอริยะไม่ทันได้นึก

รู้อย่างนี้แล้ว ต่อไปนี้จะยกย่องว่าพระรูปไหนเป็นอริยสงฆ์ โปรดระลึกควบคู่กันไปด้วยว่า –

บอกว่าใครเป็นพระอริยะ

ก็คือบอกว่าข้าพเจ้าเป็นพระอริยะนั่นเอง

และคุณสมบัติของพระอริยะก็คือ ท่านจะไม่บอกใครว่าท่านเป็นพระอริยะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงพร้อมที่จะดังทุกครั้งที่มีคนตี

: แต่ถ้าจะเป็นกลองระฆังดี-อย่าดังเอง

#บาลีวันละคำ (4,304)

25-3-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *