บาลีวันละคำ

พรหม ไม่ใช่พรม (บาลีวันละคำ 4,307)

พรหม ไม่ใช่พรม

พรมก็ไม่ใช่พรหม

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของท่านผู้หนึ่งบรรยายอัธยาศัยของพระเถระรูปหนึ่งว่า 

… หลวงตารูปนี้ไม่เคยถือยศถืออย่าง ต้องนั่งพรหมเขียว พรหมชมพู ตามสมณศักดิ์ …

จึงขอถือโอกาสนำคำว่า “พรหม” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำ

คำว่า “พรหม” พ-ร-ห-ม เขียนแบบบาลีเป็น “พฺรหฺม” (โปรดสังเกตว่า เขียนแบบบาลีมีจุดใต้ พาน และ หีบ) รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ปัจจัย 

: พฺรหฺ + = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)

(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)

(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)

(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])

(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พฺรหฺม” หมายถึง –

(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

ขยายความ :

คำว่า “พฺรหฺม” ในบาลีออกเสียงอย่างไร?

ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้า ๆ แล้วค่อย ๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี 

แต่โดยทั่วไป “พฺรหฺม” นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พฺรม-มะ หรือ พฺรำ-มะ 

ในภาษาไทยใช้เป็น “พรหม” อ่านว่า พฺรม ไม่อ่านว่า พฺรำ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พรหม, พรหม– : (คำนาม) ชื่อพระเป็นเจ้าผู้สร้างโลกตามศาสนาพราหมณ์, เทพในพรหมโลก จำพวกมีรูป เรียก รูปพรหม มี ๑๖ ชั้น จำพวกไม่มีรูป เรียก อรูปพรหม มี ๔ ชั้น ตามคติพระพุทธศาสนา, ในบทกลอนใช้ว่า พรหมัน พรหมา พรหมาน หรือ พรหมาร ก็มี; ผู้มีพรหมวิหารทั้ง ๔ (เช่น บิดามารดามีพรหมวิหารทั้ง ๔ ต่อบุตร ได้ชื่อว่า เป็นพรหมของบุตร). (ป., ส. พฺรหฺม).”

…………..

ส่วน “พรม” พ-ร-ม เป็นคำไทย แต่จะมาจากภาษาอะไรต้องศึกษาสืบค้นกันต่อไป อ่านว่า พฺรม เหมือน “พรหม” ที่มาจากคำบาลี เป็นอย่างที่เรียกว่า คำพ้องเสียง (คำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พรม ๑ : (คำนาม) เครื่องลาดทำด้วยขนสัตว์, โดยปริยายใช้เรียกสิ่งอื่นบางชนิดที่ใช้ปูลาดว่า พรม เช่น พรมน้ำมัน พรมกาบมะพร้าว; เรียกด้ายที่ทำด้วยขนสัตว์หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นว่า ไหมพรม; ตุ้มสำหรับหยั่งน้ำตื้นลึกเมื่อเรือเดินใกล้ฝั่ง; ไม้สำหรับยึดกันครากมีกรอบถือเป็นต้น.”

แถม :

พรหมลิขิต ไม่ใช่ พรมลิขิต

พรมปูนั่ง ไม่ใช่ พรหมปูนั่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

เขียนพลาด คือรู้อยู่ว่าสะกดอย่างไร แต่เผลอไป

เขียนผิด คือเข้าใจผิดไปว่าที่สะกดอย่างนั้นถูกต้องแล้ว

: สติรอบคอบ ช่วยไม่ให้เขียนพลาด

: ปัญญาเฉลียวฉลาด ช่วยไม่ให้เขียนผิด

#บาลีวันละคำ (4,307)

28-3-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *