สรุป (บาลีวันละคำ 2,646)
สรุป
เป็นภาษาอะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สรุป, สรูป [สะหฺรุบ, สะหฺรูบ] : (คำกริยา) ย่อเอาเฉพาะใจความสำคัญของเรื่องเป็นประเด็น ๆ ไป เช่น สรุปข่าว สรุปสถานการณ์, โบราณใช้ว่า สรวป ก็มี. (คำนาม) ประเด็นย่อ ๆ ของเรื่อง เช่น กล่าวโดยสรุป.”
ปกติถ้าเป็นคำที่รู้แน่ว่ามาจากภาษาอะไร พจนานุกรมฯ จะบอกที่มาไว้ด้วย เช่น ป. คือบาลี ส. คือสันสกฤต
แต่คำว่า “สรุป” และ “สรูป” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร
บาลีมีคำว่า “สรูป” อ่านว่า สะ-รู-ปะ รากศัพท์มาจาก สํ (แทนศัพท์ว่า “วิชฺชมาน” = มีอยู่) + รูป (ที่เราทับศัพท์ว่า “รูป”), ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ส)
: สํ + รูป = สํรูป > สรูป (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “รูปอันมีอยู่”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สรูป” ว่า สภาวะ, ลักษณะ, ธรรมชาติ, สิ่งที่มีอยู่โดยปกติ
บาลี “สรูป” สันสกฤตก็เป็น “สรูป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ว่า –
“สรูป : (คำวิเศษณ์) เหมือน, ละม้าย; like, resembling.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สรูป” ว่า –
(1) of the same form (มีรูปเหมือนกัน)
(2) having a body (มีร่างกาย)
ขยายความ :
คัมภีร์อภิธานปปฺปทีปิกาฏีกา อธิบายคาถาที่ 1090 ซึ่งมีคำว่า “สรูปสฺมึ” บอกไว้ว่า “สรูปสฺมึ สมานภาเว” หมายความว่า “สรูป” ก็คือ “สมานภาว” = สิ่งที่เสมอกัน
เช่นพูดถึง ก. กับ ข. ว่าเป็น “สิ่งที่เสมอกัน” ก็หมายความว่า ก. เป็นอย่างไร ข. ก็เป็นอย่างนั้น หรือ ข. เป็นอย่างไร ก. ก็เป็นอย่างนั้น นี่คือความหมายของ “สรูป” = “สิ่งที่เสมอกัน”
พระคัมภีร์อภิธานัปปที่ปิกา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง อธิบายคาถาเดียวกันนี้ซึ่งเป็นตอนที่บอกความหมายของศัพท์ว่า “ตล” ข้อความในพระคัมภีร์อภิธานัปปที่ปิกามีว่า “สรูปสฺมึ อโธ ตลํ”
คำอธิบายบอกไว้ว่า –
“ตล ศัพท์เป็นไปในอรรถคือ ๑ สรูป (คือ ตล ศัพท์ที่มิได้มีความหมายพิเศษอะไร เช่น ปพฺพตตลํ, คคนตลํ พื้นภูเขา, พื้นอากาศ ซึ่งก็คงหมายความเพียงภูเขาและอากาศอยู่ตามเดิม). ๒ อโธ (อโธภาค, ชั้นล่าง, พื้น).”
ตามคำอธิบายนี้ “ปพฺพต” แปลว่า “ภูเขา” เติม “ตล” เข้าไปเป็น “ปพฺพตตล” ก็ยังคงหมายถึง “ภูเขา” อยู่นั่นเอง ไม่ได้มีความหมายแปลกแตกต่างออกไปเลย
ดังนั้น เมื่อ “ตล” มีความหมายว่า “สรูป” (“ตล ศัพท์เป็นไปในอรรถคือ ๑ สรูป”) คำว่า “สรูป” จึงมีความหมายว่า “เหมือนกัน” คือไม่แปลกหรือไม่ต่างไปจากเดิม หมายความว่า คำเดิมหรือเรื่องเดิมมีความหมายอย่างไร เมื่อพูดว่า “สรูป” ก็คือบอกว่า คำนั้นเรื่องนั้นมีความหมายอย่างเดิมนั่นเอง
ตามที่ผู้เขียนบาลีวันละคำยกหลักฐานต่างๆ มานี้อาจจะดูวกวนอยู่บ้าง แต่ก็เป็นอันจับความได้ว่า คำว่า “สรูป” หรือที่เรานิยมใช้ว่า “สรุป” นี้เป็นคำบาลีสันสกฤตแน่ ในภาษาเดิมหมายถึง เหมือนกัน, คล้ายกัน
เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย เราใช้ในความหมายว่า “ย่อเอาเฉพาะใจความสำคัญ” แต่ก็ยังคงส่อถึงความหมายเดิมในบาลีสันสกฤต นั่นคือ เรื่องเดิมหรือเรื่องเต็มๆ เป็นอย่างไร เรื่องที่ “สรุป” ก็คงเหมือนกันอย่างนั้น เพียงแต่รายละเอียดไม่เท่ากันเท่านั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งสรุปอะไรง่ายๆ
: และถึงแม้จะแน่ใจ ก็อย่าด่วนสรุปอะไรง่ายๆ
#บาลีวันละคำ (2,646)
10-9-62