บาลีวันละคำ

“จำพรรษา” ถูกต้องกว่าจำวัด (บาลีวันละคำ 4,308)

 “จำพรรษา” ถูกต้องกว่าจำวัด

“จำวัด” คือ sleep ไม่ใช่ stay

บวชเป็นพระแล้วไปพำนักอยู่ที่นั่นที่โน่น คนสมัยนี้ใช้คำเรียกว่า “จำวัด” เช่น – ดาราหนุ่มบวชแล้วไปจำวัดอยู่ที่เชียงราย

ถ้าใช้คำว่า “จำวัด” ก็หมายความว่า ดาราหนุ่มบวชแล้วไปนอนหลับอยู่ที่เชียงราย – ต้องการจะบอกอย่างนี้ใช่ไหม?

ผู้เขียนบาลีวันละคำเสนอแนะว่า ให้ใช้คำว่า “จำพรรษา” ถูกต้องกว่า “จำวัด

มีผู้แย้งว่า คำว่า “จำพรรษา” หมายถึง ไปพักอยู่ที่นั่นที่โน่น 3 เดือนภายในช่วงเวลาเข้าพรรษา แต่นี่บวชนอกพรรษา บวชชั่วเวลาสั้น ๆ ไม่ได้จำพรรษา 3 เดือน เรียกว่า “จำพรรษา” น่าจะไม่ถูกต้อง

ถ้ารู้จักแยกแยะได้ขนาดนี้ ก็ควรจะแยกแยะได้ว่า “จำวัด” กับ “จำพรรษา” ต่างกันอย่างไร

ถือโอกาสศึกษาความหมายคำว่า “จำวัด” กับ “จำพรรษา

คำว่า “จำวัด” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จำวัด : (คำกริยา) นอนหลับ (ใช้แก่ภิกษุสามเณร).”

คำว่า “จำพรรษา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จำพรรษา : (คำกริยา) อยู่ประจำที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์).” 

ขยายความ :

คำว่า “จำพรรษา” ในภาษาบาลีมีคำที่ใช้อยู่ 2 คำ คือ –

(1) “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” มาจาก วสฺส ( = ฤดูฝน) + อุป ( = เข้าไป, ใกล้) + นี (ธาตุ = นำไป) + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: วสฺส + อุป = วสฺสูป + นี > เน > นาย = วสฺสูปนาย + อิก = วสฺสูปนายิก + อา = วสฺสูปนายิกา (ติถี) เขียนแบบไทยว่า “วัสสูปนายิกาดิถี” แปลว่า “วันเข้าพรรษา” เป็นคำเรียกเฉพาะวันเข้าพรรษาเพียงวันเดียว

(2) “วสฺสูปวาส” (วัด-สู-ปะ-วา-สะ) คำกริยาว่า วสฺสํ อุปวสติ (วัด-สัง อุ-ปะ-วะ-สะ-ติ) มาจาก วสฺส ( = ฤดูฝน) + อุป ( = เข้าไป, ใกล้) + วาส ( = การอยู่

: วสฺส + อุป = วสฺสูป + วาส = วสฺสูปวาส เขียนแบบไทยว่า “วัสสูปวาส” (วัด-สู-ปะ-วาด) แปลว่า “การเข้าจำพรรษา” หมายถึงการพักอยู่กับที่ตลอดฤดูฝน ตรงกับที่เราพูดว่า “จำพรรษา

คำว่า วัสสูปนายิกาดิถี และ วัสสูปวาส ไม่เป็นที่คุ้นปากคุ้นหู และไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

…………..

จำวัด” ภาษาไทยหมายถึง พระนอนหลับ

พระพำนักอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เรียกว่า “จำพรรษา

จำวัด” คือ sleep

จำพรรษา” คือ stay

เรามุ่งจะพูดว่า พระพำนัก (stay) อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ได้มุ่งจะพูดว่า พระไปนอนหลับ (sleep) อยู่ที่ใดที่หนึ่ง 

เพราะฉะนั้น บวชเป็นพระแล้วไปพำนักอยู่ที่นั่นที่โน่น เรียกว่า “จำวัด” จึงผิดชัด ๆ ตัดคำว่า “จำวัด” ทิ้งไปได้เลย

บวชเป็นพระแล้วไปพำนักอยู่ที่นั่นที่โน่น อย่าได้เรียกว่า “จำวัด” กันอีกต่อไป แต่ให้เรียกว่า “จำพรรษา

ไม่ใช่ 3 เดือนในระหว่างเข้าพรรษา ไปเรียกว่า “จำพรรษา” ได้อย่างไร?

จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องรู้ถึงความเป็นมาของการ “จำพรรษา

ความเป็นมาของการ “จำพรรษา” มีดังนี้ –

1 ในสมัยพุทธกาล แม้จะมีผู้สร้างเสนาสนะถวายเป็น “อาราม” ( = วัด) ในพระพุทธศาสนาแล้ว แต่พระสงฆ์ก็ไม่ได้อยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นการถาวร ดังจะพูดเทียบในสมัยนี้ว่า –

พระมหาพีร์วัดมหาธาตุ

พระมหาเทียบวัดพระเชตุพนฯ

สมัยพุทธกาลพูดว่า –

พระสารีบุตรวัดเวฬุวัน 

พระมหาโมคคัลลานะวัดกาฬศิลา

พระอานนท์วัดเชตวัน 

แบบนี้ไม่มี สมัยพุทธกาลไม่ได้เรียกแบบนี้

ทั้งนี้เพราะพระสมัยพุทธกาลไม่ได้อยู่ประจำที่เหมือนพระในปัจจุบัน เวลาปกติพระสมัยพุทธกาลจะจาริกไปตามที่ต่าง ๆ ที่เป็นสัปปายะแก่การปฏิบัติธรรมหรือเพื่อการประกาศธรรม ครั้นถึงฤดูฝนจึงพักประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งตามพระพุทธานุญาต เมื่อออกพรรษาแล้วก็จาริกต่อไปอีก 

พระสงฆ์ไทยยังได้คติเช่นนี้ติดมา กล่าวคือสมัยก่อนเมื่อออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์สามเณรส่วนหนึ่งจะนิยมจาริกไปตามป่าเขาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “ออกธุดงค์” หรือ “เดินธุดงค์”

2 กาลต่อมา พระสงฆ์มีกิจที่จะต้องอยู่ประจำที่นอกเวลา 3 เดือนในฤดูฝนมากขึ้น เช่นต้องดูแลเสนาสนะเป็นต้น แม้ออกพรรษาแล้วก็ยังคงพักอยู่ ณ สถานที่จำพรรษานั้นต่อไปอีกเป็นเวลานาน บางทีจนถึงรอบเข้าพรรษาใหม่ต้องอยู่จำพรรษาที่เดิมต่อไปอีก ครั้นนานเข้าก็กลายเป็นอยู่ประจำที่ไปในที่สุด

3 ปัจจุบันในประเทศไทยมีระเบียบว่า พระภิกษุสามเณรต้องมีสังกัด เป็นนัยว่าต้องมีสำนักที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เท่ากับว่าแม้จะไม่ใช่ช่วงเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ก็ต้องมีที่อยู่ประจำ

4 จะเห็นได้ว่า การอยู่ประจำที่นั้นมีมูลมาจาก “จำพรรษา” ดังนั้น ไม่ว่าจะพำนักอยู่ 3 เดือนในฤดูฝน หรือพำนักในช่วงเวลาอื่น ก็ควรเรียกว่า “จำพรรษา” ได้ทั้งสิ้น

ข้อเสนอแนะ :

ควรปรับปรุงคำนิยาม “จำพรรษา” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ใหม่ ให้มีความหมายรวมถึงการพำนักอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งด้วย เช่น –

จำพรรษา ก. อยู่ประจำที่วัด 3 เดือนในฤดูฝน, พำนักอยู่ประจำที่ในสังกัดวัดใดวัดหนึ่ง (ใช้แก่พระสงฆ์).”

แถมให้คิด :

จำพรรษา” หมายถึงพำนักอยู่กับที่ 3 เดือนภายในฤดูฝน แต่กรณีพักอยู่ 10 วันหรือเดือนเดียว ไม่ได้อยู่จำพรรษา เรียกว่า “จำพรรษา” ก็ยังมีความหมายคล้อยตามกันอยู่นั่นเอง เพราะหมายถึง “พำนักอยู่” (stay) เหมือนกัน ไม่ได้ขัดกัน

แต่ “จำวัด” หมายถึง “นอนหลับ” (sleep) เอามาใช้ในความหมายว่า “พำนักอยู่” (stay) ขัดกันขนาดนี้ ทำไมยังขืนใช้กันอยู่ได้? แล้วใช้สิทธิ์อะไรไปเปลี่ยนความหมายของคำเดิม?

ศึกษาความหมายเดิมให้เข้าใจแล้วใช้ให้ถูกต้อง

กรุณาอย่าดันทุรังใช้กันผิด ๆ แล้วอ้างว่าคนเขานิยมใช้แบบนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผิดแล้วดันทุรัง พังไปตลอดชีวิต

: ผิดแล้วยอมรับผิด เป็นบัณฑิตทันที

#บาลีวันละคำ (4,308)

29-3-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *