บาลีวันละคำ

มติมหาชน (บาลีวันละคำ 622)

มติมหาชน

(บาลีไทย)

อ่านว่า มะ-ติ-มะ-หา-ชน

ประกอบด้วย มติ + มหา + ชน

มติ” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) หมายถึง ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด

ฝรั่งให้ความหมายคำว่า “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for = จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

มติ : ความเห็น, ความคิดเห็น, เช่น ที่ประชุมลงมติ มติของข้าพเจ้า, ความรู้; ข้อวินิจฉัยญัตติที่เสนอต่อที่ประชุม”

มหา” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, มาก, สำคัญ, เป็นที่นับถือ

เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

ชน” (บาลีอ่านว่า ชะ-นะ) หมายถึง คน, ประชาชน, สัตว์, ผู้เกิด บางทีก็ใช้ทับศัพท์ว่า ชน

ชน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

มหา + ชน = มหาชน หมายถึง คนหมู่มาก, ชนหมู่ใหญ่, ชุมชน เรียกทับศัพท์ว่า มหาชน (a great crowd, a multitude, collectively for “the people”)

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า

มหาชน : คนจำนวนมาก, คนส่วนใหญ่, ชนจำนวนมาก เช่น มติมหาชน, ประชาชนทั่วไป, เรียกกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไปว่า กฎหมายมหาชน”

มติ + มหาชน = มติมหาชน เป็นคำสมาสแบบไทย แปลจากข้างหน้ามาข้างหลัง พจน.42 บอกไว้ว่า

มติมหาชน : ความคิดเห็นหรือท่าทีของประชาชนกลุ่มใหญ่ที่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”

: ถ้า “มติชน” ลำเอียง ก็ต้องฟังเสียง “มติมหาชน”

28-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย