บาลีวันละคำ

ฉันพี่น้อง-โคตรอร่อย (บาลีวันละคำ 4,317)

ฉันพี่น้องโคตรอร่อย

ไม่ใช่ ฉันท์พี่น้อง

ไม่ใช่ โครตอร่อย

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของท่านผู้หนึ่ง เห็นคำผิด 2 คำอยู่ใกล้ ๆ กัน คำผิด 2 คำนี้เคยนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำแล้ว ขออนุญาตเอามาเขียนย้ำอีกที

(๑) คำผิดแรกเขียนว่า “สายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง”

คำถูกคือ “สายสัมพันธ์ฉันพี่น้อง”

ฉันพี่น้อง ฉันเพื่อน ฉันญาติ ใช้ “ฉัน” เกลี้ยง ๆ แค่นี้

ฉัน” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

ฉัน ๓ : (คำวิเศษณ์) เสมอเหมือน, เช่น, อย่าง, เช่น ฉันญาติ.”

ส่วน “ฉันท์” เป็นคำบาลี ไม่ได้แปลว่า “เสมอเหมือน, เช่น, อย่าง” หากแต่มีความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)

(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้น ๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ

(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) 

เพราะฉะนั้น เขียนว่า “สายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง” จึงผิด

คำถูกคือ “สายสัมพันธ์ฉันพี่น้อง” 

“ฉัน” เกลี้ยง ๆ แค่นี้ ไม่ต้องมี ท การันต์

(๒) คำผิดต่อมาเขียนว่า “แกงไตปลาอาหารยอดแย่ของต่างชาติแต่มันโครตอร่อยสำหรับเรา”

“โครต” คือคำผิด คำถูกสะกดเป็น “โคตร” โ-ค-ต-ร 

ตร เป็นตัวสะกด แบบเดียวกับคำว่า ฉัตร วิจิตร มิตร สูตร เนตร 

โคตร” เป็นรูปคำสันสกฤต เขียนแบบสันสกฤตเป็น “โคตฺร” (มีจุดใต้ ตฺ) บาลีเป็น “โคตฺต” อ่านว่า โคด-ตะ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “เชื้อสายที่รักษาชื่อเสียงไว้” 

(2) “เชื้อสายที่รักษาชื่อและความรู้ไว้” 

(3) “เชื้อสายอันเขาคุ้มครองไว้

โคตฺต” หมายถึง เชื้อสาย, วงศ์, ตระกูล, เทือกเถาเหล่ากอ, เผ่าพันธุ์ (ancestry, lineage)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

โคตร, โคตร– : (คำนาม) วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คำนี้บางทีก็นำไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคำด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล).”

ความหมายเด่นในภาษาไทย “โคตร” ก็คือ “นามสกุล” หรือที่คนจีนเรียกว่า “แซ่” 

เนื่องจาก “โคตร” มักมีการสืบสาวไปจนถึงรากเหง้าหรือเทือกเถาเหล่ากอ คำนี้จึงมีนัยหมายถึงการเข้าถึงจุดใจกลางหรือที่สุดของสิ่งนั้น ๆ ภาษาปากจึงนิยมใช้ในความหมายว่า ลึกซึ้งที่สุด มากที่สุด หนักหนาสาหัสที่สุดของสิ่งนั้น ๆ เช่น 

– “โคตรสวย” = สวยมาก ๆ 

– “โคตรซวย” = ซวยที่สุด

– “เลขข้อนี้โคตรยาก” = ยากที่สุด

…………..

การสะกดผิดเช่นนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของปุถุชน แต่สามารถแก้ไขได้โดย –

(1) เพิ่มความระมัดระวัง 

(2) ฝึกสงสัยไว้ทุกครั้งที่สะกดคำแปลก ๆ 

(3) หมั่นเปิดพจนานุกรม 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระชายแดนใต้ท่านยังกล้าตาย

: หลักภาษาง่าย ๆ ทำไมไม่กล้าเรียน

#บาลีวันละคำ (4,317)

7-4-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *