บาลีวันละคำ

พนักงานเก็บส่วย (บาลีวันละคำ 4,324)

พนักงานเก็บส่วย

บาลีว่าอย่างไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นนักเรียนบาลีแปลภาษาบาลีคำหนึ่งเป็นภาษาไทยว่า “เจ้าหน้าที่สรรพากร” ก็นึกสงสัยว่า เจ้าหน้าที่สรรพากร คำบาลีว่าอย่างไร

ข้อความที่มีคำแปลว่า “เจ้าหน้าที่สรรพากร” เป็นคาถา มีข้อความเต็ม ๆ ดังนี้ –

…………..

มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตฺวา

ราชาโน  เทฺว  จ  ขตฺติเย 

รฏฺฐํ  สานุจรํ  หนฺตฺวา

อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ. 

ที่มา: ปกิณกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 31

…………..

พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 7 เรื่องลกุณฏกภัททิยเถระ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลีย (แบบประกอบหลักสูตรบาลีสนามหลวงชั้น ป.ธ.3) แปลเป็นไทยดังนี้ –

…………..

บุคคลฆ่ามารดาบิดา 

ฆ่าพระราชาผู้กษัตริย์ 2 พระองค์ 

และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วยแล้ว

เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่

…………..

ได้ความว่า คำว่า “เจ้าหน้าที่สรรพากร” แปลมาจากคำบาลีว่า “สานุจรํ” ซึ่งพระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 7 แปลว่า “พร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วย”

สานุจรํ” ศัพท์เดิมคือ “สานุจร” แยกศัพท์เป็น + อนุจร 

” ตัดมาจาก “สห” เป็นคำนิบาต แปลว่า พร้อมกัน, ร่วมกัน 

ศัพท์ที่แปลว่า “เจ้าพนักงานเก็บส่วย” คือ “อนุจร” 

อนุจร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เที่ยวไปตาม” เอามาใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า – 

อนุจร : (คำนาม) ผู้ประพฤติตาม, ผู้ติดตาม; เรียกพระภิกษุลูกวัดว่า พระอนุจร, พระอันดับ ก็เรียก. (ป., ส.).”

แต่ “อนุจร” ในคำว่า “สานุจรํ” พระธัมมปทัฏฐกถา ภาค 7 ขยายความไว้ว่า “สานุจรนฺติ:  อายสาธเกน  อายุตฺตเกน  สหิตํ” 

พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 7 แปลไว้ว่า “บทว่า สานุจรํ ได้แก่ ผู้เป็นไปกับด้วยผู้จัดการส่วยให้สำเร็จ คือเจ้าพนักงานเก็บส่วย”

“ผู้จัดการส่วยให้สำเร็จ” แปลจากคำว่า “อายสาธเกน” (รูปคำเดิม อายสาธก)

“เจ้าพนักงานเก็บส่วย” แปลจากคำว่า “อายุตฺตเกน” (รูปคำเดิม อายุตฺตก)

สรุปคำแปลตามพระธัมมปทัฏฐกถาแปล ดังนี้ –

อนุจร” แปลว่า “เจ้าพนักงานเก็บส่วย”

อายสาธก” แปลว่า “ผู้จัดการส่วยให้สำเร็จ” 

อายุตฺตก” แปลว่า “เจ้าพนักงานเก็บส่วย”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อายุตฺตก” ว่า one who is devoted to or entrusted with, a trustee, agent, superintendent, overseer (ผู้อุทิศตนให้หรือได้รับมอบหมายให้, คนเก็บภาษี, ผู้ดูแล, ผู้จัดการ, เจ้าพนักงาน)

คำว่า “สรรพากร”พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า – 

สรรพากร : (คำนาม) อากรที่เก็บจากสิ่งที่เป็นเองหรือมีบ่อเกิดเป็นรายได้.”

ขยายความ :

คาถา “มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตฺวา” หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลว่า –

…………..

มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา

ราชาโน เทฺว จ ขตฺติเย 

รฏฺฐํ สานุจรํ หนฺตฺวา 

อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ ฯ*

พราหมณ์ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา 

ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์ 

ทำลายรัฐ พร้อมทั้งผู้ครองรัฐเสียแล้ว 

ย่อมสัญจรไป อย่างไร้ทุกข์ 

Having slain mother and father,

And two warrior kings, 

Having destroyed a country, 

With its governor, 

Ungrieving goes a brahmana. 

…………..

มีคำอธิบายแนบท้ายดังนี้ 

* “ฆ่ามารดา” หมายถึง ฆ่าตัณหา 

“ฆ่าบิดา” หมายถึง ฆ่าอัสมิมานะ หรือความถือตัว 

“ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์” หมายถึง ฆ่าสัสตทิฐิ และอุจเฉททิฐิ 

“ทำลายรัฐ” หมายถึง ควบคุมอายตนะภายใน และภายนอก 

“ผู้ครองรัฐ” หมายถึง นันทิราคะ หรือความกำหนัดยินดี

…………..

ขอท่านผู้สนใจบาลีพึงประมวลความเอาเถิดว่า “อนุจร” “อายสาธก” “อายุตฺตก” ควรจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร

“เจ้าพนักงานเก็บส่วย”?

“เจ้าหน้าที่สรรพากร”?

“ผู้ครองรัฐ”?

…………..

ดูก่อนภราดา!

วาทะสมเด็จโต –

: ศัพท์เดียวมีอรรถตั้งร้อย

: กรรมการรู้น้อยหาว่าขรัวโตบ้า

#บาลีวันละคำ (4,324)

14-4-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *