บาลีวันละคำ

มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี (บาลีวันละคำ 4,325)

มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี

ศัพท์เดียวกัน เป็นอย่างนี้

มุนินฺทวทนมฺโพช- คพฺภสมฺภวสุนฺทรี

เขียนแยกกันตามหลักแบ่งวรรคคาถา เป็นอย่างนี้

อ่านว่า มุ-นิน-ทะ-วะ-ทะ-นำ-โพ-ชะ-คับ-พะ-สำ-พะ-วะ-สุน-ทะ-รี

แยกศัพท์เป็น มุนิ + อินฺท + วทน + อมฺโพช + คพฺภ + สมฺภว + สุนฺทรี 

(๑) “มุนิ” 

อ่านว่า มุ-นิ รากศัพท์มาจาก –

(1) มุนฺ (ธาตุ = รู้; ผูก) + อิ ปัจจัย

: มุนฺ + อิ = มุนิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น” (2) “ผู้รู้ประโยชน์ทั้งสอง” (3) “ผู้ผูกจิตของตนไว้มิให้ตกไปสู่อำนาจของราคะโทสะเป็นต้น

(2) โมน (ความรู้) + อี ปัจจัย, รัสสะ อี เป็น อิ, แผลง โอ ที่ โม-(น) เป็น อุ (โมน > มุน)

: โมน > มุน + อี = มุนี > มุนิ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรู้หรือมีโมเนยยธรรม

มุนิ” หมายถึง ผู้บำเพ็ญพรต, ผู้ศักดิ์สิทธิ์, นักปราชญ์, คนฉลาด (a holy man, a sage, wise man)

มุนิ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มุนิ” และ “มุนี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุนิ, มุนี : (คำนาม) นักปราชญ์, ฤษี, พระสงฆ์. (ป., ส.).”

(๒) “อินฺท” 

อ่านว่า อิน-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)

: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

(2) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + (อะ) ปัจจัย

: อินฺทฺ + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่

อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –

(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)

(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)

อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”

อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อินท์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).”

การประสมคำ :

มุนิ + อินฺท = มุนินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งมุนี” แปลสั้น ๆ ว่า “จอมมุนี” หมายถึง พระพุทธเจ้า 

คำว่า “มุนินฺท” = พระจอมมุนี ที่เราคุ้นหูคุ้นปากกันดี ก็คือคำว่า “… ชิตวา มุนินฺโท” ในบทพุทธชัยมงคลคาถา หรือคาถาพาหุงนั่นเอง 

(๓) “วทน” 

อ่านว่า วะ-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: วทฺ + ยุ > อน = วทน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การพูด” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องพูด” 

วทน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การพูด, คำกล่าว (speech, utterance)

(2) ปาก (the mouth) 

ในที่นี้ “วทน” หมายถึง ปาก

คำว่า “วทน” ที่หมายถึง “ปาก” ที่คุ้นกันดี คือคำในพระคาถาชินบัญชรบทที่ว่า –

กุมารกสฺสโป เถโร 

มเหสี จิตฺตวาทโก 

โส มยฺหํ วทเน นิจฺจํ 

ปติฏฺฐาสิ คุณากโร.

ขอเชิญพระกุมารกัสสปเถระ

ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ 

มีคำพูดอันวิจิตรไพเราะ

เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรม 

ประดิษฐานอยู่เป็นประจำที่ปากของข้าพเจ้า

วทเน” (รูปคำเดิมคือ “วทน”) ในที่นี้ก็แปลว่า “ปาก

(๔) “อมฺโพช” 

อ่านว่า อำ-โพ-ชะ รูปคำเดิมเป็น “อมฺพุช” อ่านว่า อำ-พุ-ชะ รากศัพท์มาจาก อมฺพุ +  

(ก) “อมฺพุ” อ่านว่า อำ-พุ รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย

: อมฺพฺ + อุ = อมฺพุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่งเสียงได้” หมายถึง น้ำ (water) 

(ข) อมฺพุ + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุและ กฺวิ 

: อมฺพุ + ชนฺ = อมฺพุชนฺ + กฺวิ = อมฺพุชนกฺวิ > อมฺพุชน > อมฺพุช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดในน้ำ” (water-born) 

อมฺพุช” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ปลา (a fish) 

(2) ดอกบัว (a lotus)

ในที่นี้ “อมฺพุช” หมายถึง ดอกบัว 

การประสมคำ :

มุนินฺท + วทน = มุนินฺทวทน แปลว่า “ปากของจอมมุนี” คือที่แปลว่า “พระโอษฐ์ของพระจอมมุนี” คือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า 

มุนินฺทวทน + อมฺพุช = มุนินฺทวทนมฺพุช (มุ-นิน-ทะ-วะ-ทะ-นัม-พุ-ชะ) แปลว่า “ดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี” 

หรือจะประสมแบบนี้ก็ได้ : 

วทน + อมฺพุช = วทนมฺพุช (วะ-ทะ-นัม-พุ-ชะ) แปลว่า “ดอกบัวคือปาก” (ดอกบัวคือพระโอษฐ์) คือเปรียบเทียบปากว่าเหมือนกับดอกบัว 

ถามว่า – ปากของใคร

ตอบว่า – ปากของพระจอมมุนี 

: มุนินฺท + วทนมฺพุช = มุนินฺทวทนมฺพุช แปลว่า “ดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี” 

“…อมฺพุช” แผลง อุ ที่ พุ เป็น โอ เนื่องจาก –พุ– อยู่ในตำแหน่งที่ต้องเป็นคำครุ (ครุ = คำหนัก คือคำที่มีตัวสะกดหรือคำสระเสียงยาว) ทั้งนี้เพื่อความสละสลวยในเวลาสวดเป็นทำนอง กฎเกณฑ์เช่นนี้ภาษาวิชาการเรียกว่า “ฉันทานุรักษ์” 

มุนินฺทวทนมฺพุช” จึงเป็น “มุนินฺทวทนมฺโพช-” (โปรดสังเกตเครื่องหมายขีด – หลัง — บอกให้รู้ว่าศัพท์ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ แต่เพราะจำนวนคำครบเป็นวรรคหนึ่งหรือบาทหนึ่งแล้ว จึงต้องตัดคำไว้เพียงนี้ ยังมีคำอื่นมาสมาสเป็นคำเดียวกันต่อไปอีก แต่อยู่คนละวรรคกัน) 

อภิปราย : 

๑ ตรงคำว่า “…วทนมฺโพช-” นี้ ต้นฉบับบางฉบับเป็น “…วทนมฺพุช-” คือไม่แผลง อุ เป็น โอ ก็มี 

๒ คำว่า “…วทนมฺโพช-” บางฉบับเป็น “…วทนมฺโภช-” คือใช้ “อมฺโภช” ( สำเภา) แทน “อมฺโพช” (ซึ่งแผลงมาจาก “อมฺพุช”) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “อมฺภ และ อมฺโภ” แปลว่า water, sea (น้ำ, ทะเล) อ้างอิงคัมภีร์ทาฐวํส ซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นหลัง 

ค้นดูในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ยังไม่พบคำว่า “อมฺภ” หรือ “อมฺโภ” ที่แปลว่า น้ำ (ท่านผู้ใดพบ กรุณาชี้แนะด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง)

คัมภีร์ อภิธานปฺปทีปิกา แสดงศัพท์ที่แปลว่า “น้ำ” ไว้ทั้งหมด 15 คำ ก็ไม่มีคำว่า “อมฺภ” หรือ “อมฺโภ” 

อย่างไรก็ตาม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อมฺภสฺ” และ “อมฺโภช” บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) อมฺภสฺ : (คำนาม) น้ำ; water.

(2) อมฺโภช : (คำนาม) บัว; พระจันทร์; นกกะเรียน; a lotus; the moon; an Indian crane; – (คำวิเศษณ์) อาศรัยอยู่ในน้ำ, เกิดในน้ำ; aquatic, water-born.

เป็นอันว่า “อมฺโภช” ที่แปลว่า “บัว” มีในสันสกฤต 

และเป็นอันว่า บางฉบับที่เป็น “มุนินฺทวทนมฺโภช-” ก็น่าจะใช้อิงสันสกฤตนั่นเอง 

สรุปความว่า “มุนินฺทวทนมฺโพช-” หรือ “มุนินฺทวทนมฺพุช-” หรือ “มุนินฺทวทนมฺโภช-” แปลว่า “ดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี” 

(๕) “คพฺภ” 

อ่านว่า คับ-พะ ศัพท์นี้มีรากศัพท์มาหลายทาง ในที่นี้ขอแสดงเพียงทางเดียว คือ คส (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อภ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ คสฺ เป็น พฺ (คสฺ > คพฺ)

: คสฺ + อภ = คสฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นไปปกติ” (คือมีทั่วไป) 

คพฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ภายใน, โพรง (interior, cavity) = ภายในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลวงหรือว่าง

(2) ห้องใน, ห้องส่วนตัว, ห้องนอน, กุฏิ (an inner room, private chamber, bedroom , cell) = ห้อง

(3) ความพองขึ้นของมดลูก (ตั้งท้อง), ครรภ์ (the swelling of the (pregnant) womb, the womb) = ตั้งท้อง

(4) สิ่งที่อยู่ในมดลูก, ไข่ที่กลายเป็นตัวอ่อน, ลูกอ่อนในครรภ์ (the contents of the womb, the embryo, foetus) = ลูกในท้อง

ในที่นี้ “คพฺภ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) 

(๖) “สมฺภว” 

อ่านว่า สำ-พะ-วะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) (ภู > โภ > ภว

: สํ > สมฺ + ภู = สมฺภู + = สมฺภู > สมฺโภ > สมฺภว แปลตามศัพท์ว่า “ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งผล” 

สมฺภว” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สมภพ, การเกิด, กำเนิด (origin, birth, production) 

(2) น้ำสมภพ, น้ำกาม (semen virile) 

ในที่นี้ “สมฺภว” ใช้ในความหมายว่า เกิด 

(๗) “สุนฺทรี” 

อ่านว่า สุน-ทะ-รี (มีจุดใต้ นฺ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ทรฺ (ธาตุ = เอื้อเฟื้อ) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ สุ แล้วแปลงเป็น นฺ (สุ > สุํ > สุนฺ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สุ > สุํ > สุนฺ + ทรฺ = สุนฺทร + อี = สุนฺทรี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันจิตเอื้อเฟื้อด้วยดี” หมายถึง สวยงาม, ดี, งาม (beautiful, good, nice, well)

สุนทรี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

สุนทรี : (คำนาม) หญิงงาม, นางงาม, หญิงทั่วไป. (ส., ป.).”

การประสมคำ : 

คพฺภ + สมฺภว = คพฺภสมฺภว (คับ-พะ-สำ-พะ-วะ) แปลว่า “เกิดในห้อง” หมายถึง-ในส่วนที่เป็นโพรงหรือกระพุ้งของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในที่นี้คือ “ห้องแห่งดอกบัว” 

คพฺภสมฺภว + สุนฺทรี = คพฺภสมฺภวสุนฺทรี (คับ-พะ-สำ-พะ-วะ-สุน-ทะ-รี) แปลว่า “(… นางฟ้า) ผู้มีความงามซึ่งเกิดในห้อง (แห่งดอกบัว)” 

ขยายความ :

คพฺภสมฺภวสุนฺทรี” เป็นคาถาบาทที่ 2 และเป็นคำที่สมาสต่อเนื่องมาจากบาทที่ 1 คือ “มุนินฺทวทนมฺโพช-” (มุนินทะวะทะนัมโพชะ-) ถ้าเขียนติดกันเป็นข้อความปกติ ก็จะเป็นดังนี้ – 

มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี” 

(มุนินทะวะทะนัมโพชะคัพภะสัมภะวะสุนทะรี)

“วากยสัมพันธ์” – ศิลปะในการจับความหมายและเรียงคำ :

เวลานี้มีปัญหาว่าเด็กไทยอ่านหนังสือไม่แตก คืออ่านแล้วจับความหมายไม่เป็น และเขียนหนังสือไม่เป็นภาษา คือเอาคำมาเรียงกันไม่ได้ความ ทั้งนี้เพราะไม่เคยเรียนหลัก “วากยสัมพันธ์” คือความเกี่ยวข้องกันของถ้อยคำ 

คำว่า “มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี” อาจใช้เป็นตัวอย่างในการแบ่งคำและจับความหมายของคำอย่างง่าย ๆ พอเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ดังนี้ 

๑ “สมฺภวสุนฺทรี” = นางฟ้าผู้มีความงามซึ่งเกิดขึ้น–

๒ “คพฺภสมฺภว” = เกิดขึ้นในห้อง 

๓ “อมฺโพชคพฺภ” = ห้องแห่งดอกบัว (คือกลีบดอกบัวที่หุ้มเข้าด้วยกันเป็นที่ว่างอยู่ภายใน) 

๔ “วทนมฺโพช” = ดอกบัวคือพระโอษฐ์ 

๕ “มุนินฺทวทน” = พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

ข้อความนี้เปรียบห้องแห่งดอกบัวเหมือนพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

ห้องแห่งดอกบัวเป็นที่อุบัติของนางฟ้าผู้เลอโฉม ฉันใด

พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าก็เป็นที่หลั่งไหลออกแห่งพระธรรมอันงามพร้อมทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด ฉันนั้น 

…………..

คาถาพระสุนทรีวาณีมีข้อความเต็ม ๆ ดังนี้ –

…………..

มุนินฺทวทนมฺโพช-…..คพฺภสมฺภวสุนฺทรี

สรณํ ปาณินํ วาณี…..มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ.

พระวาณี คือพระสัทธรรมอันงดงาม สมภพในห้อง-

แห่งบงกช กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี 

เป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย 

โปรดยังใจของข้าพระองค์ให้เอิบอิ่ม เทอญ.

…………..

อธิบาย :

คาถาพระสุนทรีวาณีเป็นฉันท์ที่มีชื่อว่า “ปัฐยาวัต” 1 บทมี 4 วรรค (4 วรรคเป็นมาตรฐานของฉันท์ทั้งปวง) 1 วรรคมี 8 คำหรือ 8 พยางค์ นิยมเขียนบรรทัดละ 2 วรรค (ที่เขียนบรรทัดละ 1 วรรคก็มี)

โปรดสังเกตเครื่องหมายยติภังค์ หรือขีด – หลังคำว่า –โพช ที่ต้องใส่ขีด ก็เพราะ –โพช กับคำต่อไปคือ สมฺภว เป็นศัพท์เดียวกัน (-โพชสมฺภว-) แต่วรรคแรกจบวรรคที่คำว่า –โพช จึงต้องไปต่อกับ สมฺภว ในวรรคต่อไป บอกให้รู้ด้วยเครื่องหมายขีด –

คาถาตามภาพประกอบ (ภาพที่ 2) พิมพ์ผิด 3 แห่ง คือ –

1 มุนินทะ กับ วะทะนัมพุชะ แยกเป็นคนละคำ ที่ถูกคือต้องติดกัน

2 หลัง –พุชะ ต้องใส่ขีด – เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นศัพท์เดียวกับ คัพภะ

3 สัมภะวะ กับ สุนทะรี เป็นศัพท์เดียวกัน ถ้าอยู่บรรทัดเดียวกันต้องพิมพ์ติดกัน แต่เมื่อจำเป็นต้องอยู่คนละบรรทัด ต้องใส่ขีด – หลัง สัมภะวะ เป็น สัมภะวะ– บอกให้รู้ว่า สัมภะวะ– เป็นศัพท์เดียวกับ สุนทะรี

รายละเอียดเหล่านี้ต้องเรียนจึงจะรู้และจึงจะทำถูก 

ที่ทำผิดก็เพราะไม่รู้

น่าสงสัยว่า คนทำหนังสือไม่มีสำนึกที่จะตรวจสอบให้ถูกต้องแน่นอนก่อนจะพิมพ์กันบ้างหรือ?

แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เมื่อคำผิดปรากฏเผยแพร่ออกไป ทำไมจึงไม่มีใครทักท้วงเตือนติง นักเรียนบาลีในบ้านเรามีอยู่มากและมีอยู่ทั่วไป เห็นคำผิดเช่นนี้แล้วไม่มีความคิดที่จะทักท้วงเตือนติงกันบ้างหรือ?

ใจคอจะเรียนบาลีเพียงเพื่อสอบได้และได้ศักดิ์และสิทธิ์เท่านั้น ไม่คิดจะช่วยกันทำงานบาลีบ้างเลยหรือ?

…………..

ดูก่อนภราดา!

อย่างไหนน่าเศร้าใจกว่ากัน?

: เรียนจบบาลีแต่ไม่ทำงานบาลี

: เรียนจบหมอทั้งทีแต่ไม่รักษาคนป่วย

#บาลีวันละคำ (4,325)

15-4-67

.…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *