บาลีวันละคำ

กติกา (บาลีวันละคำ 626)

กติกา

อ่านว่า กะ-ติ-กา

กติกา” แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบไว้ในถ้อยคำ” “ดำเนินไปในถ้อยคำ” มีความหมาย 2 นัย คือ –

1. การตกลง, ข้อตกลง, สัญญา (agreement, contract, pact)

2. การพูดกัน, การสนทนา, การเจรจา (talking, conversation, talk)

ตามความหมายนี้ ในบาลีใช้คำเต็มว่า “กติกาวตฺต” (กะ-ติ-กา-วัด-ตะ) แปลว่า “ข้อปฏิบัติตามที่ตกลงกัน

พจน.42 บอกไว้ว่า –

กติกา : กฎเกณฑ์หรือข้อตกลงที่บุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปกําหนดขึ้นเป็นหลักปฏิบัติ เช่น กติกาชกมวย กติกาฟุตบอล; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) หนังสือสัญญา; ข้อตกลง”

ในภาษาบาลี “กติกา” หมายถึงข้อตกลงที่บุคคลหรือหมู่คณะให้ไว้ต่อกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตรงกับคำที่พูดว่า “สัญญากันไว้ว่า …” ไม่ถึงกับเป็นระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติ ซึ่งถ้าไม่ทำตามจะมีความผิด

ในภาษาไทย คำว่า “กติกา” มีความหมายไปถึง กฎเกณฑ์ ระเบียบ หรือข้อบังคับด้วย ทำนองเดียวกับ rule หรือ law ในภาษาอังกฤษ

rule หรือ law ในภาษาอังกฤษ ตรงกับภาษาบาลีว่า นีติ (นี-ติ) ปญฺญตฺติ (ปัน-ยัด-ติ) ปณฺณตฺติ (ปัน-นัด-ติ) อาณตฺติ (อา-นัด-ติ) อาณา (อา-นา) เป็นต้น

โปรดสังเกตคำที่ฝรั่งแปลข้างต้น ไม่ได้แปล  “กติกา” ว่า rule หรือ law

ตามหลักท่านว่า กติกามี 2 อย่าง คือ

1. “ธมฺมิกา กติกา” กติกาที่เป็นธรรม เช่นตกลงกันว่าจะทำความดี

2. “อธมฺมิกา กติกา” กติกาที่ไม่เป็นธรรม เช่นตกลงกันว่าจะโกงการเลือกตั้ง

: คนเท่านั้นที่รู้จักตั้งกติกาที่เป็นธรรม

: และคนที่เจริญแล้วเท่านั้นที่เคารพกติกา

1-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย