บาลีวันละคำ

ใบมรณะบัตร (บาลีวันละคำ 625)

ใบมรณะบัตร

(เป็นคำเขียนผิด)

มรณ” บาลีอ่านว่า มะ-ระ-นะ แปลว่า ความตาย, การตาย

ใบ” เป็นคำไทย พจน.๔๒ บอกความหมายไว้ดังนี้ –

1. ส่วนของพืชที่ติดอยู่กับกิ่งหรือลำต้น โดยมากมีลักษณะเป็นแผ่นแบน ๆ รูปร่างต่าง ๆ กัน มีก้านใบหรือไม่มีก็ได้ มักมีสีเขียว

2. สิ่งที่ทําด้วยผืนผ้าเป็นต้น สําหรับขึงที่เสากระโดงเพื่อรับลม

3. แผ่นเอกสารหรือหนังสือสําคัญต่าง ๆ เช่น ใบขับขี่ ใบทะเบียน

4. เรียกของที่เป็นแผ่น ๆ เช่น ใบหนังสือ ใบมีด ใบหู ทองใบ

5. ลักษณนามสําหรับใช้เรียกผลไม้ ภาชนะ เครื่องใช้บางอย่าง หรือแผ่นเอกสาร เช่น มะม่วง 2 ใบ ถ้วย 3 ใบ ตู้ 4 ใบ ใบขับขี่ 5 ใบ

บัตร” บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) สันสกฤตเป็น “ปตฺร” (ปัด-ตฺระ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร” พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

1. แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทําด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจําตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ

2. ภาชนะทําด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสําหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย, ถ้าทําเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า บัตรคางหมู, ถ้าทําเป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า บัตรกรุงพาลี หรือ บัตรพระภูมิ

3. ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร

4. ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง. (สมุทรโฆษ)

จะเห็นได้ว่า คำว่า “ใบ” กับ “บัตร” มีความหมายตรงกันเมื่อใช้เรียก “แผ่นเอกสาร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร (นาม- สิทธิ- ประกาศนีย- มรณ- อนุโมทนา- เป็นบาลีสันสกฤต)

ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงชนิดของบัตรนั้นๆ เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์ (-ประจำตัว -เครดิต -สนเท่ห์ เป็นคำแสดงชนิดของบัตร)

หลัก –

1. “บัตร” แปลว่า “ใบ” อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเรียก “…บัตร” ก็ไม่ต้องมี “ใบ” ถ้าใช้ “ใบ…” ก็ไม่ต้องมี “บัตร

2. พยางค์ท้ายคำศัพท์ที่ต่อกับ –บัตร แม้อ่านออกเสียง “อะ” ก็ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ (ไม่ต้องมีสระ อะ) เพราะคำสมาสไม่ประวิสรรชนีย์กลางศัพท์  ดังนั้น –

3. “มรณะ” คำเดียว หรืออยู่ท้ายคำ มีสระ อะ ด้วย แต่ “มรณบัตรมรณ– ไม่ต้องมีสระ อะ

สรุป –

1. “มรณะบัตร” – ผิด

2. “ใบมรณบัตร” – ก็ผิด

3. ถ้า “ใบมรณะบัตร” – ผิด 2 ชั้น (1) มรณบัตร (มีสระ อะ) ผิดชั้นหนึ่งแล้ว (2) มีทั้ง “ใบ” ทั้ง “บัตร” ผิดอีกชั้นหนึ่ง

4. “ใบมรณะ” มีสระ อะ ไม่มีบัตร – ถูก

5. “มรณบัตร” ไม่มีสระ อะ ไม่มีใบ – ถูก

พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า –

มรณบัตร (มอ-ระ-นะ-บัด) : หนังสือสําคัญที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายออกให้เป็นหลักฐานแสดงรายการคนตายแก่ผู้แจ้ง”

มรณบัตรตัวจริง :

เรามี “มรณบัตร” ติดตัวมาแล้วทุกคนตั้งแต่เกิด

เพราะการเกิดเป็นการยืนยันถึงการตาย

31-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย