สมณทูต (บาลีวันละคำ 4,426)
สมณทูต
ผู้สื่อสารงานของพระ
อ่านว่า สะ-มะ-นะ-ทูด
ประกอบด้วยคำว่า สมณ + ทูต
(๑) “สมณ”
อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
ข้อสังเกต: ศัพท์ที่ลง ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน มักจะเป็นนปุงสกลิงค์ แต่ที่เป็นปุงลิงค์ก็มีบ้าง เช่น “สมณ” ศัพท์นี้เป็นต้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“สมณะ : ‘ผู้สงบ’ หมายถึงนักบวชทั่วไป แต่ในพระพุทธศาสนา ท่านให้ความหมายจำเพาะ หมายถึงผู้ระงับบาป ได้แก่พระอริยบุคคล และผู้ปฏิบัติเพื่อระงับบาป ได้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอริยบุคคล.”
(๒) “ทูต”
บาลีอ่านว่า ทู-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป, เดือดร้อน) + ต ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)
: ทุ + ต = ทุต > ทูต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง คนสื่อสาร, ผู้ไปทำการแทน (a messenger, envoy)
บางตำราว่า “ทูต” ใช้ “ทูร” (ทู-ระ) แทนได้
“ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล
ตามนัยนี้ ทูร < ทูต มีความหมายว่า “ผู้ถูกส่งออกไปไกล” (one who is sent far away)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทูต : (คำนาม) ผู้นําข้อความไปแจ้งทั้ง ๒ ฝ่าย, ผู้รับใช้ไปเจรจาแทน, ผู้สื่อสาร, ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนไปยังต่างประเทศ เพื่อเจรจาหรือเจริญสันถวไมตรีเป็นทางราชการ. (ป.).”
อนึ่ง ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า “ทูต” คำนี้ใช้ ท ทหาร ไม่ใช่ ฑ มณโฑ
✔ทูต ท ทหาร เป็นคำถูก
✘ฑูต ฑ มณโฑ เป็นคำผิด
สมณ + ทูต = สมณทูต อ่านแบบบาลีว่า สะ-มะ-นะ-ทู-ตะ อ่านแบบไทยว่า สะ-มะ-นะ-ทูด แปลว่า “สมณะผู้เป็นทูต”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “สมณทูต” แม้จะพูดกันมานาน และใช้กันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โพธิพฤกษ์” มีกล่าวถึง “สมณทูต” ไว้ตอนหนึ่ง ข้อความเต็ม ๆ ว่าดังนี้
…………..
โพธิพฤกษ์ : ต้นโพธิ์, ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าได้ประทับ ณ ภายใต้ร่มเงาในคราวตรัสรู้, ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้และต้นไม้อื่นที่เป็นชนิดเดียวกันนั้น สำหรับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ไม้ อัสสัตถะ (ต้นโพ) ต้นที่อยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลคยา;
ต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่เป็นหน่อของต้นเดิมที่คยาได้ปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล (ปลูกจากเมล็ด) ที่ประตูวัดพระเชตวันโดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี และเรียกชื่อว่า อานันทโพธิ;
หลังพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระนางสังฆมิตตาเถรี ได้นำกิ่งด้านขวาของต้นมหาโพธิที่คยานั้นไปมอบแด่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ทรงปลูกไว้ ณ เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน;
ในประเทศไทย สมัยราชวงศ์จักรี พระสมณทูตไทยในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองอนุราธปุระมา ๖ ต้นใน พ.ศ. ๒๓๕๗ โปรดให้ปลูกไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ ต้น นอกนั้นปลูกที่วัดมหาธาตุ วัดสุทัศน์ วัดสระเกศและที่เมืองกลันตัน แห่งละ ๑ ต้น;
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยได้พันธุ์ต้นมหาโพธิจากคยาโดยตรงครั้งแรก ได้ปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตรและวัดอัษฎางคนิมิตร
แถม :
คุณสมบัติ 8 ประการ ของผู้ที่ควรทำหน้าที่เป็นทูต
(1) โสตา = เมื่อฟัง เป็นผู้ฟังที่ดี
(2) สาเวตา = เมื่อพูด พูดจาน่าฟัง
(3) อุคฺคเหตา = จับประเด็นในเรื่องที่พูดกันได้ดี
(4) ธาเรตา = จำข้อมูลได้ ไม่เลอะเทอะ
(5) วิญฺญาตา = เข้าใจเจตนาของคู่เจรจา
(6) วิญฺญาเปตา แถลงคารมได้แจ่มแจ้ง
(7) กุสโล สหิตาสหิตสฺส = รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด
(8 ) โน กลหการโก = ควบคุมตัวเองได้ ไม่ชวนทะเลาะ
ที่มา: พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 398
ในที่นี้ถอดความโดยประสงค์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ชาวบ้านเป็นทูตให้พระ ได้บุญ
: พระเป็นทูตให้ชาวบ้าน ได้อาบัติ
#บาลีวันละคำ (4,426)
25-7-67
…………………………….
…………………………….