ประโยค (บาลีวันละคำ 4,440)
ประโยค
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า ปฺระ-โหฺยก
“ประโยค” บาลีเป็น “ปโยค” อ่านว่า ปะ-โย-คะ แยกศัพท์เป็น ป + โยค
(๑) “ป”
อ่านว่า ปะ เป็นคำจำพวก “อุปสรรค” มีความหมายว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก (forth, forward, out; more than ordinarily)
(๒) “โยค”
อ่านว่า โย-คะ รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช), แปลง ช เป็น ค
: ยุชฺ + ณ = ยุชณ > ยุช > โยช > โยค แปลตามศัพท์ว่า “การประกอบ”
ป + โยค = ปโยค (ปะ-โย-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “การประกอบทั่วไป”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปโยค” ดังนี้ –
(1) means, instrument (พาหะ, เครื่องมือ)
(2) preparation, undertaking, occupation, exercise, business, action, practice (การตระเตรียม, การประกอบการ, อาชีพ, การปฏิบัติหรือทดลอง, ธุรกิจ, การกระทำ, การปฏิบัติ)
บาลี “ปโยค” สันสกฤตเป็น “ปฺรโยค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรโยค : (คำนาม) ‘ประโยค,’ อวกาศหรือโอกาศ; มูล, เหตุ, ความมุ่งหมาย, สิ่งที่มุ่งหมาย; ผล; การย์หรือกรรมน์, อรรถ; การตั้งแต่ง; การใช้; กริยาประพันธ์-ประพฤติ-ประกอบ การจริง ๆ ( ตรงกันข้ามกับวาทะหรือตำรา); ไวธิกรูป, พิธีหรือทางการย์; มันตรโยคหรือมายา; จิตตวิโลภน์หรือการผูกจิตต์, การบำราบ; อุบายหรือสาธน์; อุทาหรณ์; ตุลา, อุปมาน, การเปรียบเทียบ; การย์, กริยา, กรรมน์; นาฏกียกริยาหรือนาฏกรรมน์; ธนประโยคหรือต้นเงิน (อันมืดอก), คำว่า ‘ฤณพาน, ทรัพยประโยค’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; การให้กู้ยืมเงินโดยเรียกเอาดอก; ลาภ-ผล-กำไรอันได้จากการเรียกเอาดอกเบี้ยเกินนิติบัญญัติหรือการค้าขาย; ม้า; มูล, มูลครันถ์; ศักดิ์; occasion, cause, motive, object; consequence, result; affair, matter; appointing or appointment; application, use, employment; practice (the opposite of theory); ceremonial form, course of proceeding; magic or charm; fasicnating, subduing; device or contrivance; example comparison; act, action; dramatic action or performance; principal, loan bearing interest; lending money at interest; profits of usury or trade; a horse; text; authority.”
ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประโยค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประโยค : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำพูดหรือข้อความที่ได้ความบริบูรณ์ตอนหนึ่ง ๆ เช่น ประโยคบอกเล่า ประโยคปฏิเสธ ประโยคคำถาม; ชั้นแห่งความรู้ภาษาบาลี เช่น เปรียญ ๓ ประโยค สอบได้ประโยค ๓; ความเพียรเครื่องประกอบ, ความเพียร เช่น ประโยคสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความเพียร. (ส. ปฺรโยค; ป. ปโยค).”
ขยายความ :
“ประโยค” ในความหมายที่ว่า “คำพูดหรือข้อความที่ได้ความบริบูรณ์ตอนหนึ่ง ๆ” ในบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “วาจก” แปลว่า “ผู้กล่าว” มี 5 วาจกหรือ 5 ประโยค คือ –
1 กัตตุวาจก: กิริยาศัพท์ใดกล่าวผู้ทำ คือแสดงว่าเป็นกิริยาของผู้ทำนั้นเอง กิริยาศัพท์นั้นชื่อกัตตุวาจก (กัด-ตุ-วา-จก)
2 กัมมวาจก: กิริยาศัพท์ใดกล่าวกรรม สิ่งที่บุคคลพึงทำ คือแสดงว่าเป็นกิริยาของกรรมนั้นเอง กิริยาศัพท์นั้นชื่อกัมมวาจก (กำ-มะ-วา-จก)
3 ภาววาจก: กิริยาศัพท์ใดกล่าวแต่สักว่าความมีความเป็นเท่านั้น ไม่กล่าวกัตตาและกรรม กิริยาศัพท์นั้นชื่อภาววาจก (พา-วะ-วา-จก)
4 เหตุกัตตุวาจก: กิริยาศัพท์ใดกล่าวผู้ใช้ให้คนอื่นทำ คือแสดงว่าเป็นกิริยาของผู้ใช้ให้ผู้อื่นทำนั้น กิริยาศัพท์นั้นชื่อเหตุกัตตุวาจก (เห-ตุ-กัด-ตุ-วา-จก)
5 เหตุกัมมวาจก: กิริยาศัพท์ใดกล่าวสิ่งที่เขาใช้ให้บุคคลทำ คือแสดงว่าเป็นกิริยาของสิ่งนั้น กิริยาศัพท์นั้นชื่อเหตุกัมมวาจก (เห-ตุ-กำ-มะ-วา-จก)
วาจกเหล่านี้ นักเรียนบาลีเรียกรู้กันว่า “ประโยค” คือ –
ประโยคกัตตุวาจก
ประโยคกัมมวาจก
ประโยคภาววาจก
ประโยคเหตุกัตตุวาจก
ประโยคเหตุกัมมวาจก
ขอยกคำอธิบายประโยคกัตตุวาจก (กรรตุวาจก) จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาให้ดูสักประโยคหนึ่งพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้ –
…………..
“กรรตุวาจก : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำกริยา) กริยาที่บอกว่าประธานเป็นกรรตุการกคือผู้ทำหรือผู้ใช้ให้ทำ, กริยาของประโยคที่แสดงว่าประธานทำหน้าที่เป็นกรรตุการกคือเป็นผู้ทำหรือผู้ใช้ให้ทำ เช่น ครูเขียนหนังสือ (ประธานเป็นผู้ทำ) ครูให้นักเรียนเขียนหนังสือ (ประธานเป็นผู้ใช้ให้ทำ). (ป., ส. วาจก ว่า ผู้กล่าว).”
…………..
ท่านสรุปท้ายไว้ว่า –
…………..
วาจกทั้ง 5 นี้ เป็นสำคัญของเนื้อความทั้งปวงในการพูดหรือแต่งหนังสือ, ถ้าผู้พูดหรือเขียนหนังสือใช้วาจกไม่ถูกต้องแล้ว ก็พาให้เนื้อความที่ตนประสงค์จะกล่าวนั้น ๆ เสียไป ไม่ปรากฏชัด เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้ศึกษาพึงกำหนดวาจกทั้ง 5 นี้ให้เข้าใจแม่นยำ.
…………..
(ดูรายละเอียดในบาลีไวยากรณ์ วจีวิภาค ภาคที่ 2 อาขยาตและกิตก์ หน้า 165-170 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
…………..
ที่ยกเรื่อง “ประโยค” ในบาลีไวยากรณ์มาแสดงไว้นี้ ไม่ประสงค์จะให้เข้าใจ แต่ประสงค์จะให้รู้จักถ้อยคำอันเป็นชื่อประโยคไว้พอเป็นอุปนิสัยปัจจัย
อุปมาเหมือนคนสวดมนต์ แม้ไม่รู้คำแปลของบทที่ตนสวดก็ยังมีกุศลจิตมีอุตสาหะที่จะสวดถ้อยคำในบทสวดมนต์นั้น ๆ อยู่นั่นเอง
ชาตินี้รู้จักชื่อประโยคไว้ก่อน
ชาติหน้าจะได้มีอุตสาหะในการเรียนบาลี
…………..
ความหมายของ “ประโยค” อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ชั้นแห่งความรู้ภาษาบาลี เช่น เปรียญ ๓ ประโยค สอบได้ประโยค ๓” คนเก่านิยมพูดกันอย่างนี้ แม้เวลานี้ก็ยังพูดกันอยู่ เช่น “มหาย้อย 9 ประโยค” หมายถึง มหาย้อยสอบได้ชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเรียนบาลีเอาประโยคกันอยู่อย่างนี้
: คงยากที่เอาบาลีไปใช้ทำประโยชน์
#บาลีวันละคำ (4,440)
8-8-67
…………………………….
…………………………….