บาลีวันละคำ

อาหาร [2] (บาลีวันละคำ 4,441)

อาหาร [2]

กินอยู่ทุกวันวาร รู้จักดีแล้วหรือยัง

ภาษาไทยอ่านว่า อา-หาน

ภาษาบาลีอ่านว่า อา-หา-ระ

อาหาร” รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (หรฺ > หาร)

: อา + หรฺ = อาหรฺ + = อาหรณ > อาหร > อาหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่นำมาซึ่งกำลังและอายุ” (2) “สิ่งที่นำมาซึ่งรูปกาย” (3) “สิ่งที่นำมาซึ่งผลของตน

หมายเหตุ: “อา” อุปสรรค ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” คือ หรฺ ธาตุ = นำไป อาหร กลับความ = นำมา 

อาหาร” (ปุงลิงค์) หมายถึง สิ่งที่บำรุงเลี้ยงร่างกาย, สิ่งที่ค้ำจุน, อาหาร, อาหารบำรุงกำลัง (feeding, support, food, nutriment) 

บาลี “อาหาร” สันสกฤตก็เป็น “อาหาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อาหาร : (คำนาม) ของบริโภค; การนำไป; food; conveying.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อาหาร”  บอกไว้ดังนี้ –

…………..

อาหาร : ปัจจัยอันนำมาซึ่งผล, เครื่องค้ำจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตมี ๔ คือ ๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ

…………..

และมีคำขยายความอาหารแต่ละอย่างดังนี้ –

…………..

(1) กวฬิงการาหาร : อาหารคือคำข้าว ได้แก่อาหารที่กลืนกินเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นวัตถุ 

(2) ผัสสาหาร : อาหารคือผัสสะ, ผัสสะเป็นอาหาร คือเป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดเวทนา ได้แก่ อายตนะภายในอายตนะภายนอก และวิญญาณกระทบกัน ทำให้เกิดเวทนา คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง 

(3) มโนสัญเจตนาหาร : ความจงใจเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่าง ๆ 

(4) วิญญาณาหาร : อาหารคือวิญญาณ, วิญญาณเป็นอาหารคือเป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดนามรูป 

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [212] แสดง อาหาร 4 ไว้ดังนี้ – 

…………..

อาหาร 4 (สภาพที่นำมาซึ่งผลโดยความเป็นปัจจัยค้ำจุนรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย, เครื่องค้ำจุนชีวิต, สิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดกำลังเจริญเติบโตและวิวัฒน์ได้ — Āhāra: nutriment)

1. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว ได้แก่ อาหารสามัญที่กลืนกินดูดซึมเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย — Kavaḷiṅkārāhāra: material food; physical nutriment) เมื่อกำหนดรู้กวฬิงการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ราคะที่เกิดจากเบญจกามคุณได้ด้วย

2. ผัสสาหาร (อาหารคือผัสสะ ได้แก่ การบรรจบแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา พร้อมทั้งเจตสิกทั้งหลายที่จะเกิดตามมา — Phassāhāra: nutriment consisting of contact; contact as nutriment) เมื่อกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้วก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนา 3 ได้ด้วย

3. มโนสัญเจตนาหาร (อาหารคือมโนสัญเจตนา ได้แก่ ความจงใจ เป็นปัจจัยแห่งการทำ พูด คิด ซึ่งเรียกว่า กรรม เป็นตัวชักนำมาซึ่งภพ คือ ให้เกิดปฏิสนธิในภพทั้งหลาย — Manosañcetanāhāra: nutriment consisting of mental volition; mental choice as nutriment) เมื่อกำหนดรู้มโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหา 3 ได้ด้วย.

4. วิญญาณาหาร (อาหารคือวิญญาณ ได้แก่ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป — Viññāṇāhāra: nutriment consisting of consciousness; consciousness as nutriment) เมื่อกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้ด้วย.

…………..

แถม :

ขยายความตามสำนวนของผู้เขียนบาลีวันละคำว่า พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ – 

1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)

2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)

3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)

4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าคิดแต่เพียงว่าทำอะไรจึงจะมีกิน

: แต่จงคิดต่อไปด้วยว่า จะมีกินไปทำอะไร

#บาลีวันละคำ (4,441)

9-8-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *