บาลีวันละคำ

โมฆะ (บาลีวันละคำ 632)

โมฆะ

เขียนแบบบาลีเป็น “โมฆ

อ่านว่า โม-คะ

โมฆ” แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่หลงลืม” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เปล่า, ว่าง, ไร้ประโยชน์, โง่ , งี่เง่า

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

โมฆ-, โมฆะ : เปล่า, ว่าง; ไม่มีประโยชน์, ไม่มีผล, เช่น สัญญาเป็นโมฆะ; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย”

ในภาษาบาลีคำที่แปลว่า “ว่างเปล่า” นอกจาก “โมฆ” แล้วยังมีอีก ที่พบบ่อยคือ “ตุจฺฉ” (ตุด-ฉะ) “ริตฺต” (ริด-ตะ) และ “สุญฺญ” (สุน-ยะ) โดยรวมๆ แล้วแปลว่า “ว่างเปล่า” เหมือนกัน แต่มีนัยที่แตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือ

– ว่างเปล่าแบบ “โมฆะ” หมายถึง ไม่สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสิ่งนั้นๆ (เทียบคำฝรั่งคือ vain หรือ useless)

– ว่างเปล่าแบบ “ตุจฺฉ” หรือ “ริตฺต” หมายถึง ภาชนะหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่มีอะไรบรรจุหรือใส่ไว้ เช่นแก้วเปล่าๆ กล่องเปล่าๆ (empty) ในภาษาบาลี “ตุจฺฉหตฺถ” (ตุด-ฉะ-หัด-ถะ) แปลว่า “มือเปล่า” หมายถึง ไม่ได้ถืออะไรมา ไม่มีอะไรมาฝาก

– ว่างเปล่าแบบ “สุญฺญ” หมายถึง ไม่มีแก่นสารที่ควรจะยึดถือ (devoid of reality)

ว่างเปล่าแบบ “โมฆะ” ตัวอย่างเช่น

– บวชเป็นภิกษุสามเณรแล้วไม่ศึกษาปฏิบัติกิจของสงฆ์ให้สมกับความมุ่งหมายของการบวช การบวชนั้นก็เป็นโมฆะ (ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ตรัสเรียกภิกษุที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลว่า “โมฆบุรุษ”)

– บริหารประเทศเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข แต่บริหารไปแล้วประชาชนอยู่ร้อนนอนทุกข์ การบริหารนั้นก็เป็นโมฆะ

– เลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนราษฎร แต่เลือกแล้วก็ยังไม่ได้ตัวผู้แทน การเลือกตั้งนั้นก็ (เห็นทีจะ) เป็นโมฆะ

พุทธภาษิต :

ยสฺส สทฺธา ตถาคเต…..อจลา สุปติฏฺฐิตา

สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ…..อริยกนฺตํ ปสํสิตํ

สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ…อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ

อทฬิทฺโทติ ตํ อาหุ…….อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ.

(รามเณยยกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๙๑๙)

มีศรัทธามั่นในพระตถาคต

มีศีลงามหมดจดน่าเจริญใจ

มีความเลื่อมใสในพระอริยสงฆ์

มีความคิดเห็นถูกตรงตามเหตุผล

นั่นเรียกว่าผู้ไม่ขัดสนทุกสิ่งสรรพ์

ชีวิตของผู้เช่นนั้นไม่เป็นโมฆะ

: วันนี้วันพระ อย่าทำคืนวันให้เป็นโมฆะ โดยทั่วกันเทอญ

6-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย