บาลีวันละคำ

อุเทสิกเจดีย์ (บาลีวันละคำ 4,450)

อุเทสิกเจดีย์

คำนี้หมายถึงพระพุทธปฏิมา

อ่านว่า อุ-เ-ท-สิ-กะ-เจ-ดี

ประกอบด้วย อุเทสิก + เจดีย์

(๑) “อุเทสิก

เขียนแบบบาลีเป็น “อุทฺเทสิก” (โปรดสังเกตว่า มี 2 ตัว จุดใต้ ทฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อุด-เท-สิ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทฺเทส + อิก ปัจจัย

(ก) “อุทฺเทส” อ่านว่า อุด-เท-สะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + (อะ) ปัจจัย (นัยหนึ่งว่า ปัจจัย, ลบ ), ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ทฺ + ทิสฺ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)

: อุ + ทฺ + ทิสฺ = อุทฺทิสฺ + (หรือ , ลบ ) = อุทฺทิส > อุทฺเทส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยกขึ้นแสดง” 

อุทฺเทส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การชี้ให้เห็น, การยกขึ้นชี้แจง, อุเทศ, การอธิบาย, การชี้บอก, กำหนดการ (pointing out, setting forth, proposition, exposition, indication, programme)

(2) การอธิบาย (explanation)

(3) การกล่าวแสดงหรือเสนอ, การสวด, การสาธยายหรือกล่าวซ้ำ (propounding, recitation, repetition)

(ข) อุทฺเทส + อิก = อุทฺเทสิก (อุด-เท-สิ-กะ) แปลว่า “สิ่งที่ยกขึ้นแสดง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุทฺเทสิก” ดังนี้ –

(1) (adj.) indicating, referring to, respecting, defining (คุณศัพท์) (บ่งแสดง, อ้างถึง, เกี่ยวกับ, กำหนด) 

(2) (nt.) indication, definition (นปุงสกลิงค์) (การบ่งแสดง, การนิยาม) 

(3) memorial (เครื่องระลึกถึง, เจดีย์)

(๒) “เจดีย์” 

บาลีเป็น “เจติย” อ่านว่า เจ-ติ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) จิตฺ (ธาตุ = บูชา) + ณฺย ปัจจัย, ลง อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิตฺ + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลบูชา

(2) จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ณฺย ปัจจัย, ลง อาคม และ อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิ + + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาก่อด้วยอิฐเป็นต้น

(3) จิตฺต (จิต, ใจ) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลทำไว้ในจิต

(4) จิตฺต (วิจิตร, สวยงาม) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลสร้างอย่างวิจิตร

เจติย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง เจดีย์, สิ่งที่ควรเคารพบูชา, กองหินซึ่งทำไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นสุสาน (a tumulus, sepulchral monument, cairn)

บาลี “เจติย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “เจดีย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เจดีย-, เจดีย์ ๑ : (คำนาม) สิ่งซึ่งก่อเป็นรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่นับถือมีพระธาตุเป็นต้น, สิ่งหรือบุคคลที่เคารพนับถือ. (ป. เจติย; ส. ไจตฺย).”

อุทฺเทสิก + เจติย = อุทฺเทสิกเจติย (อุด-เท-สิ-กะ-เจ-ติ-ยะ) แปลเท่าศัพท์ว่า “เจดีย์ที่ยกขึ้นแสดง” หมายถึง สิ่งที่ยกขึ้นแสดงให้ปรากฏเห็นมีสถานะเหมือนเจดีย์สำหรับระลึกถึงคุณของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

อุทฺเทสิกเจติย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุเทสิกเจดีย์” 

ขยายความ :

เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเรียกว่า “พุทธเจดีย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

พุทธเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า มี ๔ ชนิด คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์.”

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อุเทสิกเจดีย์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

อุเทสิกเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์ที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป.”

เป็นอันว่า “อุเทสิกเจดีย์” ก็คือพระพุทธรูปนั่นเอง

อภิปราย :

พระพุทธรูปมีมาตั้งแต่เมื่อใด?

พระพุทธรูปเป็นของมีมานานนักหนา แม้ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพานก็มีร่องรอยแสดงว่าคนสมัยนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างพระพุทธรูปกันแล้ว 

แต่นักปราชญ์ทั้งหลายประมาณว่าพระพุทธรูปมีมาตั้งแต่ราวพุทธศักราช 500 เป็นต้นมา

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถามีกล่าวถึงพระพุทธรูปชัดเจน

ศาสนิกบางศาสนาเรียกพระพุทธรูปว่า “รูปเคารพ” และเรียกศาสนาที่มีรูปเคารพว่า “ศาสนาที่นับถือรูปเคารพ” เขาถือว่ารูปเคารพเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จะต้องทำลายให้สิ้นซาก

เวลานี้แม้ในหมู่ชาวพุทธเองก็มีแนวคิดไม่นับถือพระพุทธรูป

ผู้สร้างพระพุทธรูปมิได้สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวพุทธกราบไหว้ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เมื่อใครบนบานวอนขอสิ่งใดก็จะกระโดดลงมาจากหิ้งจากแท่นแล้วมาช่วยบันดาลให้สิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จโดยผู้บนบานวอนขอไม่ต้องทำอะไรนอกจากกราบไหว้วอนขอแล้วก้นอนรอผลอย่างเดียว

แต่ผู้สร้างพระพุทธรูปสร้างขึ้นด้วยเจตนาจะให้เป็นอุปกรณ์เครื่องช่วยให้ชาวพุทธที่ยังมีอินทรีย์อ่อนสามารถระลึกถึงพระพุทธคุณได้สะดวกโดยอาศัยพิจารณาพระพุทธปฏิมาเป็นอารมณ์ แล้วก้าวขึ้นสู่การปฏิบัติจิตภาวนาต่อไป

เมื่อยกจิตสูงขึ้นถึงระดับนั้นแล้ว อย่าว่าแต่พระพุทธรูปที่เป็นปูนเป็นทองเหลืองเลย แม้แต่องค์พระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่แท้ ๆ ท่านก็ยังตรัสไม่ให้ยึดถือ

ชาวพุทธกราบไหว้พระพุทธรูปด้วยเหตุผลเช่นนี้

สำหรับชาวพุทธที่มีอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยพระพุทธรูปเป็นอารมณ์อีกต่อไป เหมือนนักว่ายน้ำที่แข็งแรงไม่ต้องอาศัยห่วงยางเป็นเครื่องช่วยเหมือนเด็กเพิ่งหัดว่ายน้ำอีกต่อไปฉะนั้น

แต่เด็กที่เพิ่งหัดว่ายน้ำยังจำเป็นต้องอาศัยห่วงยางหรืออุปกรณ์อื่น ๆ จนที่สุดแม้แต่มือของผู้ใหญ่ที่คอยช่วยจับช่วยอุ้มไม่ให้จมน้ำ

คนต่างศาสนาเขารังเกียจพระพุทธรูปก็เพราะเขาไม่ได้เรียนรู้ให้เข้าใจว่าชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปไว้ทำไม กราบไหว้พระพุทธรูปด้วยเหตุผลอะไร

แต่ชาวพุทธเองรังเกียจพระพุทธรูปนี่น่าสงสาร 

แต่ที่น่าสงสารยิ่งกว่านั้นก็คือชาวพุทธที่กราบไหว้พระพุทธรูปในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ววอนขอให้ช่วยดลบันดาลโดยตัวเองไม่ต้องทำอะไรนอกจากวอนขออย่างเดียว

ชาวพุทธต้องถามตัวเองว่า เราจะเป็นเด็กสวมห่วงยางหัดว่ายน้ำไปจนตาย หรือจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองขึ้นไปเป็นแชมป์ว่ายน้ำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ท่านว่ายน้ำเป็นแล้ว ท่านเก่ง ดี

: แต่จะดียิ่งขึ้นถ้ารู้จักเป็นห่วงเด็กที่พึ่งหัดว่ายน้ำด้วย

#บาลีวันละคำ (4,450)

18-8-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *