บุญราศี (บาลีวันละคำ 4,451)
บุญราศี
บางทีก็พูดกันเพลินไป
อ่านว่า บุน-ยะ-รา-สี
แยกศัพท์เป็น บุญ + ราศี
(๑) “บุญ”
บาลีเป็น “ปุญฺญ” อ่านว่า ปุน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุ (ธาตุ = ชำระ สะอาด) + ณฺย ปัจจัย, ลง น อาคม, ลบ ณฺ, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุ > ปุน + ณฺย = ปุนฺย > ปุญ + ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ชำระสันดานของตนให้สะอาด” “กรรมที่ชำระผู้ทำให้สะอาด”
(2) ปุชฺช (น่าบูชา) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ชฺช, ช และ ณ, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุชฺช + ชนฺ + ณฺย = ปุนฺย > ปุญ + ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะอันทำให้เกิดความน่าบูชา”
(3) ปุณฺณ (เต็ม) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺณ, ก และ ณ, แปลง รย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุณฺณ + กรฺ + ณฺย = ปุรย > ปุญ + ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันทำให้เต็มอิ่มสมน้ำใจ”
“ปุญฺญ” หมายถึง เครื่องชำระสันดาน, ความดี, กรรมที่ดีงามเป็นประโยชน์, ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ, กุศลกรรม, ความสุข, กุศลธรรม (merit; meritorious action; virtue; righteousness; moral acts; good works)
“ปุญฺญ” ภาษาไทยใช้ว่า “บุญ” ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา
(๒) “ราศี”
อ่านว่า รา-สี บาลีเป็น “ราสิ” (รา-สิ, –สิ สระ อิ ไม่ใช่สระ อี) รากศัพท์มาจาก รสฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + อิณ ปัจจัย, ลบ ณ (อิณ > อิ), ทีฆะ อะ ที่ ร-(สฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (รสฺ > ราส)
: รสฺ + อิณ = รสิณ > รสิ > ราสิ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่ยินดี คือมารวมกันด้วยความยินดี”
“ราสิ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
1 กอง, ฝูง, หมู่ (heap, quantity, mass)
2 คลังสมบัติ, ทรัพย์สินเงินทอง (store of wealth, riches)
3 เครื่องหมายของจักรราศีทั้ง 12 (a sign of the Zodiac)
4 (คำเฉพาะในตรรกวิทยา) กลุ่ม, การรวมเป็นกลุ่ม, ชนิด, กอง, หมู่ (group, aggregate, category, congery)
บาลี “ราสิ” สันสกฤตเป็น “ราศิ” (บาลี ส เสือ สันสกฤต ศ ศาลา)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ราศิ : (คำนาม) นิกร, กอง, ปริมาณ, ประมาณ; ราศี (แห่งจักรราศิ); ประมาณในคณิตหรือพิชคณิตวิทยา; ภาคกับตัวหาร, หรือเศษกับส่วน; a heap, a quantity; a sign (of the zodiac); arithmetical or algebraic quantity; a part and its divisor; or numerator and denominator.”
ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ราศี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ราศี” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ราศี ๑ : (คำนาม) กอง, หมู่, เช่น บุญราศี ว่า กองบุญ; ชื่อมาตราวัดจักรราศี คือ ๓๐ องศา เป็น ๑ ราศี, ถ้ากลุ่มดาวใดอยู่ในช่วงจักรราศีนั้น ก็เรียกชื่อราศีตามกลุ่มดาวนั้น เช่น ราศีเมษ ราศีกรกฎ, อาทิตย์โคจรรอบจักรวาลผ่านหมู่ดาว ๑๒ หมู่ และดาวหมู่หนึ่ง ๆ เรียกว่า ราศี ๑. (ส. ราศิ; ป. ราสิ).
(2) ราศี ๒ : (คำนาม) ความสง่างาม, ลักษณะดีงามของคน, เช่น หน้าตามีราศี, โดยปริยายหมายความว่า ความอิ่มเอิบ, ความภาคภูมิ, เช่น ได้ตำแหน่งดี ดูมีราศีขึ้น; สิริมงคล เชื่อกันว่าเวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า เวลากลางวันราศีอยู่ที่หน้าอก เวลากลางคืนราศีอยู่ที่เท้า.
ปุญฺญ + ราสิ = ปุญฺญราสิ (ปุน-ยะ-รา-สิ) แปลว่า “กองแห่งบุญ” > กองบุญ
“ปุญฺญราสิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุญราศี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“บุญราศี : (คำนาม) กองบุญ.”
ขยายความ :
เราคงเคยพูดคำว่า “บุญราศี” กันมาแล้ว แต่ถ้าถามว่า เคยเห็นคำว่า “บุญราศี” ในภาษาบาลีบ้างหรือเปล่า แทบทั้งหมดคงตอบว่า ไม่เคยเห็น
เพื่อให้ได้เคยเห็นคำว่า “บุญราศี” ในภาษาบาลี ผู้เขียนบาลีวันละคำขอยกเรื่องราวในคัมภีร์บาลีมาแสดงไว้ในที่นี้
ในวันปรินิพพาน บุตรของกษัตริย์มัลละผู้หนึ่งชื่อ ปุกกุสะ ได้ถวายผ้าสิงคิวรรณแด่พระพุทธเจ้า สำนวนในมหาปรินิพพานสูตรบรรยายความตอนนี้ไว้ว่า –
…………..
ปุกกุสมัลลบุตรน้อมคู่ผ้าเนื้อเกลี้ยงมีสีดังทองสิงคี (ผ้าสิงคิวรรณ) ซึ่งเป็นผ้าทรงเข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คู่ผ้าเนื้อเกลี้ยงนี้มีสีดังทองสิงคี เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความอนุเคราะห์ทรงรับคู่ผ้านี้ของข้าพระองค์เถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้เราครองผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง
ปุกกุสมัลลบุตรทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว น้อมถวายพระผู้มีพระภาคทรงครองผืนหนึ่ง ถวายท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว
ปุกกุสมัลลบุตรลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป
ครั้งนั้น เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้น้อมคู่ผ้าเนื้อเกลี้ยงมีสีดังทองสิงคีซึ่งเป็นผ้าทรงนั้นเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค (คือท่านรับแล้วไม่ได้ใช้เอง หากแต่น้อมถวายพระผู้มีพระภาค)
แปลเก็บความจาก: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 121-122
…………..
ความตอนนี้ อรรถกถา (สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 285 อธิบายมหาปรินิพพานสูตร) ยกมาขยายความดังนี้ –
…………..
กึ ปน เถโร ตํ คณฺหีติ ฯ
ถามว่า พระเถระรับผ้านั้นหรือ
อาม คณฺหีติ ฯ
ตอบว่า ใช่ ท่านรับ
กสฺมา ฯ
เพราะเหตุไร
มตฺถกปฺปตฺตกิจฺจตฺตา ฯ
เพราะท่านทำหน้าที่จบเสร็จแล้ว
กิญจาปิ เหส เอวรูปํ ลาภํ ปฏิกฺขิปิตฺวา อุปฏฺฐากฏฺฐานํ ปฏิปนฺโน ฯ
ความจริง ท่านพระอานนท์ปฏิเสธไม่รับผลประโยชน์ทำนองนี้ก่อนแล้วจึงยอมปฏิบัติหน้าที่อุปัฏฐากก็จริงอยู่
ตํ ปนสฺส อุปฏฺฐากกิจฺจํ มตฺถกํ ปตฺตํ ฯ
แต่หน้าที่อุปัฏฐากของท่านนั้นจบเสร็จแล้ว (เงื่อนไขที่จะไม่รับสิ่งตอบแทนจึงเป็นอันสิ้นสุดลง)
ตสฺมา อคฺคเหสิ ฯ
เพราะฉะนั้นท่านจึงรับ
เย วา ปน เอวํ วเทยฺยย อนาราธโก มญฺเญ อานนฺโท ฯ
อีกประการหนึ่ง อาจจะมีคนพูดอย่างนี้ว่า พระอานนท์เห็นทีจะรู้สึกน้อยใจ
ปญฺจวีสติ วสฺสานิ อุปฏฺฐหนฺเตน น กิญฺจิ ภควโต สนฺติกา เตน ลทฺธปุพฺพนฺติ
ท่านอุปัฏฐากมาถึง 25 ปี ไม่เคยได้อะไรจากพระผู้มีพระภาคเลย
เตสํ วจโนกาสจฺเฉทนตฺถํปิ อคฺคเหสิ ฯ
เพื่อตัดโอกาสที่คนจะพูดเช่นนั้น ท่านจึงรับ
อปิจ ชานาติ ภควา อานนฺโท คเหตฺวาปิ อตฺตนา น ธาเรสฺสติ ฯ มยฺหํเยว ปูชํ กริสฺสติ ฯ
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อานนท์แม้รับแล้วก็จักไม่ใช้ด้วยตนเอง จักบูชาเรานั่นเอง
มลฺลปุตฺเตน ปน อานนฺทํ ปูชนฺเตน สํโฆปิ ปูชิโต ภวิสฺสติ ฯ
แต่ปุกกุสมัลลบุตรเมื่อบูชาอานนท์ ก็จักเท่ากับบูชาพระสงฆ์ด้วย
เอวมสฺส มหาปุญฺญราสิ ภวิสฺสตีติ
เมื่อเป็นเช่นนี้ กองบุญใหญ่ก็จักมีแก่ปุกกุสมัลลบุตรนั้น
เถรสฺส เอกํ ทาเปสิ ฯ
พระผู้มีพระภาคจึงโปรดให้ถวายพระเถระผืนหนึ่ง
เถโรปิ เตเนว การเณน อคฺคเหสีติ ฯ
ฝ่ายพระเถระก็รับเพราะเหตุนั้นเหมือนกัน (คือรับเพื่อให้ปุกกุสมัลลบุตรได้บุญมากขึ้น)
…………..
ตัวอย่างที่ยกมานี้มีคำว่า “มหาปุญฺญราสิ” ซึ่งแปลว่า “กองบุญใหญ่”
เป็นอันว่า ต่อไปนี้เมื่อพูดคำว่า “บุญราศี” ก็ไม่ใช่เพียงแต่พูดกันเพลินไป หากแต่ได้เคยเห็นข้อความ เห็นเรื่องราวที่กล่าวถึง “บุญราศี” = กองบุญ มาแล้ว ซ้ำไม่ใช่ “บุญราศี” ธรรมดา แต่เป็น “มหาบุญราศี” เลยทีเดียว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าคิดแต่เพียงว่า ทำอะไรจึงจะเป็นบุญ
: แต่จงคิดด้วยว่า จะเอาบุญไปทำอะไร
#บาลีวันละคำ (4,451)
19-8-67
…………………………….
…………………………….