บาลีวันละคำ

สุนทร – สุนทรี (บาลีวันละคำ 4,456)

สุนทรสุนทรี

บางทีก็เป็นหญ้าปากคอก

สุนทร” และ “สุนทรี” เป็นคำที่พูดกันทั่วไป ความหมายที่รู้กันทั่วไปก็แสนจะง่าย คือ สวย งาม ดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) สุนทร, สุนทร– : (คำวิเศษณ์) งาม, ดี, ไพเราะ, เช่น วรรณคดีเป็นสิ่งสุนทร, มักใช้เข้าสมาสกับคำอื่น เช่น สุนทรพจน์ สุนทรโวหาร. (ป., ส.).

(2) สุนทรี : (คำนาม) หญิงงาม, นางงาม, หญิงทั่วไป. (ส., ป.).

แต่ถ้าถามว่า ที่เข้าใจความหมายกันทั่วไปว่า สวย งาม ดี นั้น “สุนทร” และ “สุนทรี” แปลตามศัพท์ในบาลีว่าอย่างไร คงมีหลายคน หรืออาจจะทุกคนที่ไม่ได้เรียนบาลี ตอบไม่ได้

สุนทร” ภาษาไทยอ่านว่า สุน-ทอน เขียนแบบบาลีเป็น “สุนฺทร” 

ดูเผิน ๆ ไม่เห็นจะต่างกันเลย “สุนทร” ภาษาไทย หรือ “สุนฺทร” ภาษาบาลี ก็เขียนเหมือนกัน

ถ้าสังเกตสักเล็กน้อยก็จะเห็นความต่างกัน “สุนฺทร” บาลีมีจุดใต้ นฺ 

จุดใต้ นฺ บังคับให้ นฺ เป็นตัวสะกด อ่านว่า สุน-ทะ-ระ 

ถ้าไม่มีจุดใต้ นฺ คือเขียนเป็น “สุนทร” เหมือนภาษาไทย บาลีจะต้องอ่านว่า สุ-นะ-ทะ-ระ แต่นักเรียนบาลีย่อมรู้กันดีว่า ไม่มีรูปคำเช่นนี้ในบาลี

สุนทร” ไม่มี

มีแต่ “สุนฺทร

ถ้าจับหลักได้อย่างนี้จะช่วยให้อ่านคำบาลีได้ง่ายขึ้น

สุนฺทร” รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ทรฺ (ธาตุ = เอื้อเฟื้อ) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ สุ แล้วแปลงเป็น นฺ (สุ > สุํ > สุนฺ)

: สุ + ทรฺ = สุทรฺ + = สุทร > สุํทร > สุนฺทร 

มีรูปวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ดังนี้ –

สุฏฺฐุ  ทรียตีติ  สุนฺทรํ

อ่านว่า สุด-ถุ  ทะ-รี-ยะ-ตี-ติ  สุน-ทะ-รัง

แปลตามสูตรว่า สิ่งใด อันจิต ย่อมเอื้อเฟื้อ ด้วยดี เหตุนั้น สิ่งนั้น ชื่อว่า สุนฺทรํ 

“สุนฺทรํ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันจิตเอื้อเฟื้อด้วยดี” 

สิ่งอันจิตเอื้อเฟื้อด้วยดี” หมายความว่า เห็นสิ่งใด ได้ยินสิ่งใด ได้สัมผัสสิ่งใด จิตใจเข้าไปจับหรือเข้าไปรับเอาสิ่งนั้นด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ ด้วยความสุขสมใจ สิ่งนั้นจึงได้นามว่า “สุนฺทร” 

สุนฺทร” ถอดความหมายชัด ๆ ได้ว่า สวย, งาม, ดี, ไพเราะ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุนฺทร” ว่า beautiful, good, nice, well (สวยงาม, ดี, งาม) 

สุนฺทร” ใช้เป็นคำวิเศษณ์หรือคุณศัพท์ เมื่อใช้ขยายคำเพศหญิง จึงลง อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สุนฺทรฺ + อี = สุนฺทรี 

สุนฺทร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุนทร” (สุน-ทอน)

สุนฺทรี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุนทรี” (สุน-ทะ-รี)

โปรดสังเกต “สุนทรี” อ่านว่า สุน-ทะ-รี

ไม่ใช่ สุน-ทฺรี เหมือน tree (ต้นไม้)

ไม่ใช่ สุน-ซี เหมือน อินทรี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รูปร่างหน้าตาหลอกคนเขลาได้

: แต่หลอกบัณฑิตไม่ได้

#บาลีวันละคำ (4,456)

24-8-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *