สารทุกข์สุกดิบ [2] (บาลีวันละคำ 4,457)
สารทุกข์สุกดิบ [2]
บอกได้แล้วว่าคำว่า “สารทุกข์” มาจากไหน
แต่ไม่ใช่ สารทุกข์สุขดิบ
ผู้เขียนบาลีวันละคำเขียนคำว่า “สารทุกข์สุกดิบ” ไว้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 [บาลีวันละคำ (2,233)] โดยตั้งข้อสงสัยว่า คำว่า “สารทุกข์” มาจากไหน?
…………………………….
…………………………….
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยกคำว่า “สาร” ที่เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาแสดงไว้ 2 คำดังนี้ –
(1) สาร ๑, สาร– ๑ : (คำนาม) แก่น, เนื้อแท้, มักใช้เข้าคู่กับคำ แก่น เป็น แก่นสาร; ข้อความ, ถ้อยคำ, เรื่องราว, เช่น กล่าวสาร สื่อสาร, หนังสือ เช่น นิตยสาร วารสาร, จดหมาย เช่น เขียนสาร สารของนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน. (ป., ส.).
(2) สาร ๒ : (คำนาม) สิ่งที่มีองค์ประกอบเป็นอย่างเดียวกัน มีสมบัติเฉพาะของตนเอง และไม่สามารถใช้วิธีกลใด ๆ มาแบ่งแยกให้เป็นส่วนอื่นที่มีองค์ประกอบและสมบัติแตกต่างออกไปได้; (คำโบราณ) เรียกธาตุจำพวกหนึ่งและธาตุที่เข้าแทรกในต้นไม้ว่า สาร.
และได้บอกไว้ว่า คำว่า “สาร” ในที่นี้น่าจะมีความหมายตาม “สาร ๑, สาร-” ที่หมายถึง ข้อความ, ถ้อยคำ, เรื่องราว เมื่อประสมกับคำว่า “ทุกข์” เป็น “สารทุกข์” ควรจะแปลว่า “เรื่องราวที่บอกถึงความเดือดร้อน”
…………..
อยู่มาวันหนึ่ง ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านพบท่านผู้หนึ่งเขียนคำว่า “สารทุกข์สุกดิบ” แต่สะกดเป็น “สารทุกข์สุขดิบ” (-สุข- ข ไข่) จึงเปิดพจนานุกรมฯ ดูคำนี้
ปกติผู้เขียนบาลีวันละคำจะเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งมีโปรแกรมไฟล์บันทึกไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตก็เปิดอ่านได้สะดวก และจะตรวจสอบกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อีกครั้งหนึ่ง เพราะมีคำจำนวนมากที่ ฉบับ 2554 ปรับปรุงแก้ไขคำนิยามแตกต่างไปจากฉบับ 2542
เมื่อดูคำที่ขึ้นต้นด้วย “สาร” ในพจนานุกรมฯ ก็พบว่า มีคำว่า “สาร” บางคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำดูไม่ทั่วถึงในขณะที่เขียนคำว่า “สารทุกข์สุกดิบ” (2,233) ที่สำคัญมากคือ “สาร– ๒” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“สาร– ๒ : (คำนาม) คำประกอบหน้าคำ แปลว่า ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, ทุก, เช่น สารทิศ ว่า ทุกทิศ, สารทุกข์ ว่า ทุกข์ทั้งหมด, สารเลว ว่า เลวทั้งสิ้น. (เลือนมาจาก สรฺว ในสันสกฤต เช่น สรฺวงฺค เป็น สารพางค์ หรือ สรรพางค์).”
ถ้ายึดตามพจนานุกรมฯ ก็ไม่ต้องถามหรือไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปว่า คำว่า “สาร” ในคำว่า “สารทุกข์” มาจากไหน เพราะพจนานุกรมฯ ตอบไว้ชัดเจนแล้วว่า เลือนมาจาก สรฺว ในสันสกฤต เช่น สรฺวงฺค เป็น สารพางค์ หรือ สรรพางค์
สรฺวงฺค คือ: สรฺว + องฺค = สรฺวงฺค > สารพางค์
สรฺว + ทุกฺข = สรฺวทุกฺข ถ้าเลือนตามที่พจนานุกรมฯ ว่าก็ควรเป็น “สารพทุกข์” แต่ตัด พ พาน ออกไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเพื่อความสะดวกในการออกเสียง จึงเป็น “สารทุกข์”
…………..
ยุติว่า “สาร” ในคำว่า “สารทุกข์” มาจาก “สรฺว” ในสันสกฤต แปลว่า ทั้งหมด, ทั้งสิ้น ก็คือคำว่า “สรรพ” ที่เราคุ้นกันในภาษาไทยนั่นเอง
สรฺวทุกฺข > สรรพทุกข์ > สารทุกข์ แปลว่า ทุกข์ทั้งหมด
ส่วนคำว่า “สุกดิบ” เป็นคำสร้อยที่ใส่เข้ามาเพื่อให้คล้องจอง เจตนาก็จะให้หมายถึง “สุข” ที่คู่กับ “ทุกข์” นั่นแหละ แต่เมื่อมีคำว่า “ดิบ” ติดมาด้วย ก็ไปตรงกับ “สุกดิบ” ที่มีใช้ในภาษาไทยซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“สุกดิบ : (คำวิเศษณ์) เรียกวันเตรียมงาน ซึ่งเป็นวันก่อนถึงกำหนดวันงานพิธี ๑ วัน ว่า วันสุกดิบ.”
ในเมื่อ “สุกดิบ” คำเดิมสะกดด้วย ก ไก่ เมื่อเอามาเป็นคำสร้อยต่อท้าย “สารทุกข์” ก็ต้องสะกดตามคำเดิม เป็น “สารทุกข์สุกดิบ” (-สุก- ก ไก่)
สะกดเป็น “สารทุกข์สุขดิบ” (-สุข- ข ไข่) แม้จะตรงกับเจตนาลึก ๆ แต่ก็ผิดหลักภาษา
“สุกดิบ” (-สุก- ก ไก่) อธิบายได้ว่า “สุก” คู่กับ “ดิบ”
“สุขดิบ” (-สุข- ข ไข่) ถ้าอธิบายว่า “สุข” คู่กับ “ทุกข์” ที่ “สารทุกข์” แล้ว “ดิบ” เอามาจากไหน คู่กับอะไร จะอธิบายว่าอย่างไร
เพราะฉะนั้น โปรดช่วยกันสะกดให้ถูกหลักภาษา
แถม :
ญาติมิตรท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นท้ายคำว่า “สารทุกข์สุกดิบ” บาลีวันละคำ (2,233) (6 ปีล่วงมาแล้ว!) ไว้ดังนี้ –
…………..
หมอสวดบ้านพลีเรือน ทางภาคใต้ มีบทสวดตอนหนึ่งว่า “สอรับพะทุกข์ สอรับพะโศก สะรับพะโรค สอรับพะภัย สอรับพะอัณนอรายใดๆ ขอให้วินาศ วินายสาย โอม วินาสสันติ ..”
บทสวดทั้งนี้ สวดเป็นสำเนียงใต้ เขียนไว้ในหนังสือบุดด้วยอักขรวิธีดังนี้ เทียบวิธีการปัจจุบันและออกเสียงอย่างสำเนียงภาคกลางว่า
“สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย สรรพอันตรายใด ๆ ขอให้วินาศ วินาสายะ โอม วินาสสันติ”
คำ สรรพ ถ้าเขียนอย่างสันสกฤตเดิม เป็น สรฺพ ออกเสียง สรฺ กล้ำ พอเขียนเลียนเสียงได้ว่า สรฺะพะ ถ้าต้องการชัด ๆ ช้า ๆ ก็เป็น สะรับพะ, สอรับพะ
สารทุกข์ คำนี้ถ้าเทียบเคียงเสียงจากตำราหมอสวดบ้านพลีเรือนทางใต้ ควรจะมาจาก สรรพทุกข์
เจตส์ ตรังเค
…………..
เป็นอันว่าข้อสันนิษฐานของญาติมิตรท่านนี้ตรงกับที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แสดงไว้ที่คำว่า “สาร– ๒”
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะภาษาเป็นสิ่งสมมุติ
: จึงถูกต้องที่สุดที่จะช่วยกันสมมุติให้ดีงาม
#บาลีวันละคำ (4,457)
25-8-67
…………………………….
…………………………….