บาลีวันละคำ

สมณธรรม (บาลีวันละคำ 4,466)

สมณธรรม

ถ้าเป็นสมณะ ต้องทำ

อ่านว่า สะ-มะ-นะ-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า สมณ + ธรรม

(๑) “สมณ” 

อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้น ๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

ข้อสังเกต: ศัพท์ที่ลง ยุ ปัจจัย แปลงเป็น อน มักจะเป็นนปุงสกลิงค์ แต่ที่เป็นปุงลิงค์ก็มีบ้าง เช่น “สมณ” ศัพท์นี้เป็นต้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สมณะ : ‘ผู้สงบ’ หมายถึงนักบวชทั่วไป แต่ในพระพุทธศาสนา ท่านให้ความหมายจำเพาะ หมายถึงผู้ระงับบาป ได้แก่พระอริยบุคคล และผู้ปฏิบัติเพื่อระงับบาป ได้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอริยบุคคล.”

(๓) “ธรรม” 

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ธรรม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (4) 

สมณ + ธมฺม = สมณธมฺม (สะ-มะ-นะ-ทำ-มะ) แปลเชิงทับศัพท์ว่า “ธรรมะของสมณะ” แปลเอาความว่า คุณเครื่องความเป็นสมณะ 

ขยายความ :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณธมฺม” ว่า the duties of a samaṇa (หน้าที่ของสมณะ) 

คุณเครื่องความเป็นสมณะ คืออะไร? 

คุณเครื่องความเป็นสมณะ คือ:

– หน้าที่ต่าง ๆ ที่ผู้เป็นสมณะจะต้องประพฤติปฏิบัติ 

– ถ้าชี้เฉพาะที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เช่น-การเจริญพระกรรมฐานหรือปฏิบัติจิตภาวนา 

– คุณธรรมที่สมณะพึงปฏิบัติบำเพ็ญให้มีขึ้นในตน 

– คุณธรรมที่สมณะพึงได้พึงมี ด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้น

– คุณธรรมที่สมณะพึงบรรลุถึง เช่นมรรคผลนิพพาน 

หมายความว่า ผู้เข้ามาถือเพศสมณะในพระศาสนา ไม่ใช่มีเฉพาะเพศสมณะอย่างเดียว แต่มีธรรมของสมณะอยู่ในตนด้วย

ธรรมทั้งปวงของสมณะที่ตนประพฤติ และควรให้มีหรือต้องมีอยู่ในตนนั่นแหละ คือ “สมณธรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ธรรมไม่มีสมณะได้

: แต่สมณะไม่มีธรรมไม่ได้

#บาลีวันละคำ (4,466)

3-9-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *