บาลีวันละคำ

บูรพาจารย์ (บาลีวันละคำ 4,467)

บูรพาจารย์

หมายถึงใคร

อ่านว่า บู-ระ-พา-จาน

แยกศัพท์เป็น บูรพ + อาจารย์

(๑) “บูรพ” 

บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย

: ปุพฺพฺ + = ปุพฺพ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)

ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.”

ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” “บูรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี “บูรพ์” “บูรพะ” “บูรพา” ก็มี และแผลงเป็น “บรรพ” เขียนเป็น “บรรพ์” (การันต์ที่ ) ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).

(2) บุรพ– : (คำวิเศษณ์) บุพ. (ส. ปูรฺว; ป. ปุพฺพ).

(3) บูรพ์, บูรพะ, บูรพา : (คำวิเศษณ์) ก่อน, แรก, เบื้องหน้า; ตะวันออก. (ส.).

(4) บรรพ– ๒, บรรพ์ : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก, เบื้องต้น; ตะวันออก. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).

(๒) “อาจารย์” 

บาลีเป็น “อาจริย” อ่านว่า อา-จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์” 

(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น” 

(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)

(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต

อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า อาจารย์ (a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

ปุพฺพ + อาจริย = ปุพฺพาจริย (ปุบ-พา-จะ-ริ-ยะ) แปลว่า “อาจารย์ในกาลก่อน” คือ อาจารย์ที่เคยมีมาในอดีต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปุพฺพาจริย” ดังนี้ –

(1) an ancient teacher, a scholar of previous times (อาจารย์สมัยก่อน ๆ, บุรพาจารย์) 

(2) a former teacher (ผู้เคยเป็นครูมาก่อน, อดีตครู)

ปุพฺพาจริย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุพพาจารย์” “บุรพาจารย์” และ “บูรพาจารย์” 

ขยายความ :

คำว่า “บุพพาจารย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุพพาจารย์ : (คำนาม) อาจารย์ในเบื้องต้น คือ บิดามารดา. (ป. ปุพฺพาจริย; ส. ปูรฺวาจารฺย).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

บุพพาจารย์ : (คำนาม) อาจารย์ในเบื้องต้น คือ บิดามารดา, อาจารย์คนก่อน ๆ ของสถาบันการศึกษา. (ป. ปุพฺพาจริย; ส. ปูรฺวาจารฺย).

คำว่า “บุรพาจารย์” และ “บูรพาจารย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุรพาจารย์, บูรพาจารย์ : (คำนาม) อาจารย์ในเบื้องต้น คือ บิดามารดา.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

บุรพาจารย์, บูรพาจารย์ : (คำนาม) อาจารย์ในเบื้องต้น คือ บิดามารดา, อาจารย์คนก่อน ๆ ของสถาบันการศึกษา. (ส. ปูรฺวาจารฺย; ป. ปุพฺพาจริย).”

ข้อควรสังเกตก็คือ “บุพพาจารย์” “บุรพาจารย์” และ “บูรพาจารย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายไว้เพียงว่า “อาจารย์ในเบื้องต้น คือ บิดามารดา” 

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพิ่มความหมายขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า “อาจารย์คนก่อน ๆ ของสถาบันการศึกษา”

สรุปว่า “บุพพาจารย์” “บุรพาจารย์” และ “บูรพาจารย์” ในภาษาไทย หมายถึง บิดามารดา และอาจารย์คนก่อน ๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเอาวิชาความรู้ไปทำความดี 

: ก็อย่าสนใจดีกรีว่าจบจากไหน

#บาลีวันละคำ (4,467)

4-9-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *